การออกกำลังกายกับความสุข Routine to Genuine Happiness


การออกกำลังกายกับความสุข 
Routine to Genuine Happiness

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Talk of The Town ในช่วงเวลานี้ คือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2021 ณ ประเทศเวียดนาม ที่ทับนักกีฬาไทยรุ่นใหม่สร้างประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจแทบจะทุกประเภทกีฬา คว้าเหรียญทองชนิดที่ทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็น เทพบิว เจ้าหนุ่มลมกรดที่สร้างสถิติโลกในการวิ่ง 200 เมตร ด้วยเวลาเพียง 20.37 วินาที ด้วยอายุเพียง 16 ปี เหรียญทองแบดมินตันทีมชายในรอบ 47 ปี หรือแม้แต่การกระโดดสูงที่ได้เหรียญทองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และแน่นอนว่า การฝึกซ้อมที่ดี การเตรียมพร้อมและดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้นักกีฬาไทยคว้าชัยในทุกสนาม
 
          การแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ เรียกได้ว่า ปลุกกระแสการออกกำลังกายและแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาออกกำลังในในช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงได้เป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่นักกีฬาที่ต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง เราก็เช่นกันที่ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อเตรียมพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้านในทุก ๆ วัน แต่นั่งคิดอย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องลงมือทำด้วย เพราะ “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง” วันนี้ Happy U มีเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยให้ออกกำลังกายได้อย่างมีความสุข (Routine to Genuine Happiness)


การสร้างสุขภาพที่ดี ไม่ใช่เรื่องของการเสียเวลาทำงาน

          ในโลกที่ต้องแข่งขันกันสร้าง Productivity ให้กับองค์กร ถือเป็นแรงกดดันมหาศาลที่คนทำงานต้องแบกรับ และเมื่อเรื่องของการทำงานเป็นเรื่องใหญ่ การดูแลสุขภาพจึงเป็นเรื่องเล็ก หลายคนอาจจะต้องแลกวัยหนุ่มสาวเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ช้าก่อน... เราอยากชวนทุกคนมาปรับวิธีคิดเพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญ

          คนทำงาน จำเป็นต้องบริหารจัดการงานกับชีวิตส่วนตัวเพื่อให้เกิด “สุขสมดุล” ได้ เพราะชีวิตไม่ได้มีเพียงแค่มิติเดียว แบบวัดความสุขด้วยตนเอง: HAPPINOMETER (จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล) จำแนกความสุขออกเป็น 9 มิติด้วยกัน ได้แก่

-          สุขภาพกายดี (Happy Body)                    

-          น้ำใจดี (Happy Heart)                           

-          ครอบครัวดี (Happy Family)                    

-          ใฝ่รู้ดี (Happy Brain)                             

-          การงานดี (Happy Work-Life)

-          ผ่อนคลายดี (Happy Relax)

-          จิตวิญญาณดี (Happy Soul)

-          สังคมดี (Happy Society)

-          สุขภาพเงินดี (Happy Money)

          ถือเป็นความท้าทายที่ทุกคนจะต้องศิลปะในการบริหารจัดการชีวิตของตัวเองให้เกิดความสมดุล เพราะถ้าเอนเอียงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ตราชั่งของชีวิตใบนี้ก็จะเกิดความเสียหาย และมิติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตที่สุดคงจะหนีไม่พ้น เรื่องของมิติสุขภาพกายดี (Happy Body) เมื่อร่างกายดี ชีวิตก็จะดีไปด้วย


ถ้าเรามีเป้าหมาย การออกกำลังกายก็ไม่ใช่เรื่องยาก!

          เป็นโจทย์ยากสำหรับคนที่มีความตั้งใจแต่ทำยังไงก็ไม่ถึงฝันสักที เพราะการออกกำลังกายสำหรับหลายคนนั้น “แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว” ฉะนั้น การเริ่มตั้งเป้าหมายเพื่อให้ไปถึงเส้นชัยเป็นกลยุทธ์ที่จะหยุดความคิดในการล้มเลิกความตั้งใจในการสร้างสุขภาพที่ดี ถ้ามีก้าวแรก ก้าวต่อไปย่อมดีเสมอ ทุกคนสามารถเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เช่น การออกกำลังกายแบบเบา ๆ การเดินเร็ว การวิ่งในระยะทางสั้น เป็นต้น เพราะการออกกำลังกายเป็นความสุขง่าย ๆ ที่หาได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้หัวใจ กล้ามเนื้อ ปอด ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานดีขึ้น การไหลเวียนของโลหิตในร่างกายดีขึ้น และช่วยให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ได้ประโยชน์ทั้ง Happy Body และ Happy Relax

          มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรและนักศึกษา โดยสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะที่ดีซึ่งจากกิจกรรม Walk & Run to Happy MU ที่ทำให้ทุกคนมีความสุขได้ด้วยกิจกรรมเดินวิ่ง ในงานนี้ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงความสำคัญในการออกกำลังไว้ว่า


การออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญและก็ทำให้สุขภาพแข็งแรง
Happy Body เป็นเรื่องสำคัญ 
ถ้าร่างกายแข็งแรง เราก็จะมีพลังกายที่จะไปทำงานต่าง ๆ ที่เราจะต้องฟันฝ่าในแต่ละกิจกรรม
ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงจิตใจก็ไม่แข็งแรงไปด้วย
ร่างกายที่สดชื่นแข็งแรง มันทำให้เราสมองปลอดโปร่ง ทำอะไรได้ง่าย


          ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของสุขภาพกายที่ดี (Happy Body) มีความสัมพันธ์กับมิติผ่อนคลายดี (Happy Relax)  จิตวิญญาณดี (Happy Soul) ปัญญาดี (Happy Brain)  การงานดี (Happy Work-life) รวมไปถึง สังคมดี (Happy Society) ข้อสำคัญ การออกกำลังร่วมกันช่วยสร้างความผูกพันในองค์กร (Engagement) ได้ดีอีกด้วย

          ออกกำลังกายให้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเราต้องแลกกับการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตบางอบย่าง เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี เช่น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สารเสพติด การรับประทานอาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด แม้กระทั่ง การเสพติดโซเชียลมีเดีย หรือ การปั่นงานจนนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นแรงบั่นทอนสุขภาพของคนทำงาน ดังนั้น การปรับพฤติกรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงสุขภาพที่ดีย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะผลของการออกกำลังกายไม่ได้จำกัดเฉพาะกล้ามแน่น ๆ หัวใจและปอดแข็งแรงเท่านั้น แต่สามารถช่วยเรื่องระบบต่าง ๆ ในร่างกายดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นย่อยอาหาร หายใจ ความดัน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โรคความดัน และโรคมะเร็งได้ ปรับปรุงสุขภาพร่างกายและบุคลิกโดยรวมของเราด้วย ไม่ว่าจะลดรอบเอว ทำให้คล่องตัว ช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น มีพลังมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุหลักที่กระตุ้นให้คนส่วนใหญ่ตื่นตัวอยู่เสมอในเรื่องออกกำลัง เพราะอันที่จริงแล้วผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะรู้สึกดีที่ได้ออกกำลัง พวกเขารู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้นตลอดทั้งวัน แถมยังนอนหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางคืน มีความทรงจำที่ดีขึ้น และรู้สึกผ่อนคลายและคิดบวกมากขึ้น

          จงท่องไว้เสมอว่า ถ้าคุณออกจากองค์กร องค์กรพร้อมที่จะหาคนอื่นมาทำงานในตำแหน่งคุณเสมอ แต่สำหรับสุขภาพร่างกาย คุณมีเพียงแค่ร่างเดียว จงรักษาไว้ให้แข็งแรง มีชีวิตอยู่ให้ยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และจงใช้ชีวิตให้มีความสุข


เพชฌฆาตความเครียดและความซึมเศร้า

          การออกกำลังกายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการทำลายวงจรเพชฌฆาตความและเครียดความซึมเศร้าเคยสังเกตร่างกายเมื่ออยู่ภายใต้ความเครียดไหม กล้ามเนื้อของเราจะตึง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า คอ และไหล่ ทำให้เรามีอาการปวดหลังหรือคอ หรือปวดหัวมาก เราจะรู้สึกแน่นหน้าอก ชีพจรเต้นแรง หรือเป็นตะคริว เราจะประสบปัญหา เช่น นอนไม่หลับ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย หรือปัสสาวะบ่อย ความกังวลและความรู้สึกไม่สบายทางร่างกายทั้งหมดเหล่านี้สามารถนำไปสู่ความเครียดมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ระหว่างจิตใจและร่างกายของเรา

          การออกกำลังกาย นอกจากการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินในสมองแล้ว การออกกำลังกายยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาความตึงเครียดในร่างกาย เนื่องจากร่างกายและจิตใจมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด

เมื่อร่างกายรู้สึกดีขึ้น จิตใจก็ดีขึ้นเช่นกัน
การออกกำลังกายเป็นเพชฌฆาตความเครียดตัวจริงเลยจ้า


          การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถส่งผลดีอย่างลึกซึ้งต่อภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และสมาธิสั้น ทั้งยังบรรเทาความเครียด เพิ่มความจำ ช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น เมื่อเราผ่อนคลาย พักผ่อนอย่างเพียงพอ เราจะรู้สึกสดชื่น อารมณ์โดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


ทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะใช้การออกกำลังกายเป็นเครื่องมือประสิทธิภาพสูง
ใช้จัดการกับปัญหาสุขภาพจิต และ ปรับปรุงมุมมองชีวิตได้


          การออกกำลังกายยังช่วยลดความเครียดได้ดี รายงานวิจัยชิ้นใหม่ในเดนมาร์กชี้ว่าคนที่วิ่งเป็นประจำมีระดับความเครียดลดลงถึง 70% และนั่นน่าจะพิสูจน์ได้ว่าถ้าใครออกกำลังกายสม่ำเสมอก็มีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากขึ้น การวิจัยยังชี้ว่า การออกกำลังกายสามารถรักษาภาวะซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลางได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นเดียวกับยาแก้ซึมเศร้า แต่แน่นอนว่าไม่มีผลข้างเคียง ตัวอย่างหนึ่งคือการศึกษาล่าสุดที่ทำโดย Harvard T.H. คณะสาธารณสุขศาสตร์ พบว่า วิ่งวันละ 15 นาที หรือเดิน 1 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ 26% นอกจากการบรรเทาอาการซึมเศร้าแล้ว การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าการรักษาตารางการออกกำลังกายสามารถป้องกันโรคประจำตัวของคุณไม่ให้กำเริบได้

          สำหรับคนที่รักสวยรักงาม ยังจะได้รับผลพวงจากการออกกำลังกายเป็นผิวพรรณที่เปล่งปลั่งขึ้นด้วย การเดินช้าหรือเดินไว ๆ ช่วยเพิ่มออกซิเจนในผิวหนัง และการออกกำลังทำให้ระบบขับถ่ายดี ผิวพรรณก็จะดีกว่าคนที่อดนอนหรือนั่งไถโทรศัพท์เล่นทั้งวัน นี่ยังไม่นับประโยชน์ด้านรูปร่างที่จะฟิตแอนด์เฟิร์มขึ้น

          เมื่อมี Happy Body และ ​Happy Soul ความสุขจากภายในยังเปล่งประกายออกมาจากวิธีคิดและการมองโลกในแง่บวกอีกด้วย


ถ้าทุกคนสามารถเปลี่ยนจาก “ล้มเลิกเป็นเลิกล้ม” ได้ ชีวิตก็ไม่มีอะไรที่ยากแล้ว


อย่าผัดวันประกันพรุ่ง อย่าบอกว่าจะเริ่มออกกำลังกายพรุ่งนี้ เราต้องถามตัวเองว่า

“เราอยากมีความสุขวันนี้และทุก ๆ วัน” หรือ “วันพรุ่งนี้ที่ไม่เคยมาถึง”
ถ้าคำตอบคือ อยากมีความสุขทุก ๆ วัน เราต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้


------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง

  • ทำได้ 6 อย่าง... ชีวิตเปลี่ยน. โรงพยาบาลศิครินทร์. เข้าถึงได้จาก https://www.sikarin.com/doctor-articles/ทำได้-6-อย่าง-ชีวิตเปลี่ยน

  • Lawrence Robinson, Jeanne Segal, Ph.D., and Melinda Smith, M.A. (2021). The Mental Health Benefits of Exercise. เข้าถึงได้จาก https://www.helpguide.org/articles/healthy-living/the-mental-health-benefits-of-exercise.h