ทำบุญหนุนความสุข
การปฏิบัติศาสนกิจของพุทธศาสนิกชนในชีวิตประจำวัน เช่น การไหว้พระสวดมนต์ การทำบุญตักบาตร การเข้าวัดฟังธรรม เป็นกิจกรรมที่นำมาซึ่งความสงบ การมีสมาธิ และเป็นการสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นกับตนเอง ตลอดจนสามารถแผ่เมตตาให้กับบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้อีกทางหนึ่งด้วย และเมื่อได้ปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว ความสุขในชีวิตจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิบัติ
การทำบุญ เป็นศาสนกิจ ที่คนไทยปฏิบัติมาทุกยุคสมัย เป็นกิจกรรมที่ชาวพุทธร่วมกันทำในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน หรือวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาหรือเทศนากัณฑ์แรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ (ภิกษุ 5 รูปที่บวชเป็นสาวกชุดแรกในศาสนาพุทธ) ชาวพุทธจึงมีกิจกรรมการทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และรักษาอุโบสถศีล เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา
อย่างไรก็ตาม การทำบุญเป็นการกระทำอะไรก็ตามแต่ที่ทำแล้วรู้สึกถึงคำว่า “สงบเย็นและเป็นประโยชน์” ถือได้ว่าเป็นการทำบุญทั้งสิ้น ซึ่งหากเราทุกคนมีความเข้าใจความหมายของบุญตามนี้แล้ว การทำบุญก็จะสามารถประยุกต์เข้าไปกับการดำเนินชีวิตของเราได้ทุกขณะ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่การบริจาคทรัพย์สินเงินทองอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยเฉพาะในสายตาของคนรุ่นใหม่ อาจมีความคิดว่า “การทำบุญ” เป็นวิธีการเพิ่มความสุขให้กับชีวิต กล่าวคือ เป็นการสร้างศรัทธาในศาสนาเพื่อเอาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งมีผลการวิจัยสนับสนุนว่า ผู้ที่ศรัทธาในศาสนาใดก็ตามจะปรับตัวรับมือกับเรื่องร้าย ๆ ในชีวิตได้ดีกว่าคนที่ไม่มีศรัทธาในศาสนา นอกจากนี้ การทำบุญ ยังทำให้รู้สึกว่าชีวิตของเรามีความหมาย เพราะได้ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งแน่นอนว่าความคิดเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความสุขในชีวิต (รุ่งฤดี บุษย์ชญานนท์ และคณะ, 2561)
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล1 ได้มีการสำรวจเกี่ยวกับการทำบุญและความสุขของนิสิต-นักศึกษา ที่ได้ผลแสดงความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ โดยในการสำรวจความผูกพัน ความพึงพอใจ และความสุขของนิสิต-นักศึกษาจากภาคีมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งมีนิสิต-นักศึกษาร่วมตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 17,026 คน จาก 26 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (เพศชาย 4,711 คน เพศหญิง 11,700 คน เพศหลากหลาย 603 คน และไม่ระบุ 12 คน) อายุเฉลี่ย 20.5 ปี พบว่า นิสิต-นักศึกษาส่วนใหญ่ปฏิบัติกิจทางศาสนาเพื่อให้จิตใจสงบอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 36.7) ระดับน้อย (ร้อยละ 23.7) ระดับมาก (ร้อยละ 15.9) ระดับน้อยที่สุด หรือไม่ปฏิบัติเลย (ร้อยละ 14.9) และระดับมากที่สุด (ร้อยละ 8.8) (รูป 1)
เมื่อพิจารณาการปฏิบัติกิจทางศาสนาร่วมกับความสุขของนิสิต-นักศึกษา พบว่า การปฏิบัติกิจทางศาสนามีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับความสุข กล่าวคือ นิสิต-นักศึกษาที่ปฏิบัติกิจทางศาสนายิ่งมาก ยิ่งมีความสุขมากตามไปด้วย โดยพบว่า กลุ่มที่ปฏิบัติกิจทางศาสนามากที่สุดมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยสูงที่สุด (7.9 จาก 10 คะแนน) ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติน้อยที่สุดมีค่าคะแนนความสุขน้อยที่สุดเช่นกัน (6.4 จาก 10 คะแนน) (รูป 2) ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่องความสุขของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ของจิราภรณ์ สรรพวีรวงศ์ และคณะ (2559) ที่พบว่า นักศึกษามีความสุขกับการที่มีโอกาสได้ประกอบศาสนกิจที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพด้านจิตวิญญาณของนักศึกษา ก็จะช่วยทำให้นักศึกษาได้มีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เช่น การจัดให้มีห้องไหว้พระและห้องละหมาด การจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรสำหรับชาวพุทธ และกิจกรรมฉลองวันคริสมาตร์สำหรับชาวคริสต์
การทำบุญในทุกศาสนาล้วนมีเป้าหมายให้คนค้นพบความสุขจากภายในจิตใจ ไม่เบียดเบียนใคร ซึ่งเป็นความสุขที่ยั่งยืน
อ้างอิง
- โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Happy University Academic Centre towards Sustainable Health Promotion) ระยะที่ 4 สิงหาคม 2565 ถึงกันยายน 2568. 2567. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
- จิราภรณ์ สรรพวีรวงศ์ ภัทรกันย์ ติเอียดย่อ จันทนี ปลูกไม้ดี ศรัญญา ทิ้งสุข สุพรรณษา สุดสวาท และ กนกพร สงปราบ. (2559). ความสุขของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. สงขลานครินทร์เวชสาร, 34 (5) (กันยายน-ตุลาคม).
- รุ่งฤดี บุษย์ชญานนท์ และสุชาติ บุษย์ชญานนท์. (2561). การสร้างแรงจูงใจในการทำบุญโดยผ่านระบบสารสนเทศสมัยใหม่. วารสารมหาจุฬาคชสาร, 9 (1) (มกราคม-มิถุนายน).