ความสุขคุณแม่วัยทำงานในมหาวิทยาลัย




          สถานการณ์ในปัจจุบันเราพบเจอคุณแม่ในวัยทำงานที่ต้องเลี้ยงดูลูกพร้อมกับทำงานไปด้วย หลายคนคิดว่าการเป็นแม่คงหาความสุขให้กับตัวเองได้ยาก เพราะกว่าจะเลี้ยงคน ๆ หนึ่งให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพได้ต้องผ่านความเครียด ความกดดัน หรือปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

          จากผลสำรวจสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากร มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย ปี 2565 โดยโครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  พบว่า มีบุคลากรเป็นคุณแม่มีบุตร จำนวน 6,056 คน (ร้อยละ 30.38) จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ ฯ ทั้งหมด 19,936 คน และยังพบว่าคุณแม่วัยทำงานในมหาวิทยาลัย มีความสุขภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 66.34 [1] นับว่าเกินครึ่งที่คุณแม่สามารถจัดการบริหารความสุขให้กับตัวเองได้ และเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ที่คน ๆ หนึ่งจะสามารถทำหน้าที่ได้หลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ละทิ้งความสุขของตัวเอง

          ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า บุคลากรในมหาวิทยาลัยที่เป็นคุณแม่มีบุตรค่อนข้างมีความสุข แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะต้องทำงานไปด้วยและเลี้ยงลูกไปด้วยให้มีความสุข ดังนั้น ควรให้ความสำคัญและดูแลคุณแม่ให้ดีในทุกช่วงเวลา ยิ่งช่วงนี้เป็นเทศกาลวันแม่ อย่าลืม หาเวลาว่างไปทานข้าว ทำกิจกรรมครอบครัว และมอบความสุขให้คุณแม่ เพื่อให้ท่านได้มีความสุขตลอดทุกช่วงชีวิตที่อยู่กับครอบครัวและลูก ๆ

 

 


 

เคล็ดลับการวางแผนการเงินด้วยรอยยิ้ม




          ลำพังการใช้ชีวิตคนเดียวในยุคปัจจุบันก็มีค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว แต่ขึ้นชื่อว่าแม่ ต้องมีหน้าที่ดูแลลูก ๆ ในทุกเรื่อง จึงควรมีการวางแผนด้านการเงินที่ดีเพื่อตัวคุณแม่และลูก ๆ ในอนาคต จากผลสำรวจ ฯ  พบว่า ค่าความสุขมิติการเงินดี (Happy Money) อยู่ที่ ร้อยละ 54.02 [1] เกินครึ่งของคุณแม่ที่เป็นบุคลากรทำงานในมหาวิทยาลัยยังคงมีความสุขกับการเงิน อาจเป็นเพราะว่ามีการวางแผนบริหารจัดการด้านการเงินที่ดีก็เป็นได้ แต่หากแม่ ๆ คนไหนยังไม่ได้วางแผนการเงินให้ดี เริ่มวันนี้ยังไม่สาย เรามีแนวทางที่พอจะช่วยคุณแม่บริหารการเงินได้ดีขึ้น ดังนี้


1.      วางแผนงบประมาณ สร้างงบประมาณรายเดือนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุก และบันทึกรายรับและรายจ่ายทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเงิน

2.      ประหยัดค่าใช้จ่าย หาวิธีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การซื้อสินค้าตามโปรโมชั่น การใช้คูปอง หรือการช้อปปิ้งในช่วงลดราคา

3.      สำรองเงินฉุกเฉิน สร้างกองทุนฉุกเฉินที่มีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วยหรือการซ่อมแซมบ้าน

4.      การออมเงิน ตั้งเป้าหมายการออมและสร้างแผนการออมที่ชัดเจน เช่น การออมเพื่อการศึกษาของลูกหรือการออมเพื่อการเกษียณ

5.      การจัดการหนี้สิน หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ใหม่หากไม่จำเป็น และพยายามชำระหนี้ที่มีอยู่ให้หมดเร็วที่สุด

6.      ประกันภัย พิจารณาการซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตเพื่อปกป้องครอบครัวจากความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด

7.      การศึกษาและการวางแผนการเงิน เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารเงินและการลงทุนผ่านหนังสือ บทความ หรือคอร์สออนไลน์


        การวางแผนบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ครอบครัวมีความมั่นคงทางการเงินและลดความเครียดในชีวิตประจำวันได้ แม่ ๆ ลองนำแนวทางเหล่านี้ไปทำตามกันดูนะคะ

 

 

 

 

คุณแม่ยุคใหม่ ยังไม่เครียด



        แม้จะยุ่งแค่ไหน คุณแม่ต้องอย่าลืมแบ่งเวลาให้ตัวเอง อาจจะเป็นเวลาสั้น ๆ แค่จิบกาแฟ อ่านหนังสือ เล่นโยคะ หรือดูซีรีส์สักตอน เติมพลังให้ตัวเอง เพื่อกลับมาเป็นแม่ที่สดใสได้อีกครั้ง จากผลสำรวจ ฯ  พบว่า ค่าความสุขสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work life Balance) อยู่ที่ ร้อยละ 53.96 [1] ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าคุณแม่สามารถรักษาสมดุลชีวิตตัวเองได้ รู้จักการปล่อยวาง และสามารถจัดการชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ แต่หากแม่ ๆ คนไหนยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เรามีแนวทางที่จะช่วยให้คุณสามารถจัดการได้ดีขึ้น ดังนี้

1.      จัดลำดับความสำคัญ จัดลำดับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และพยายามแยกแยะระหว่างสิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่สามารถเลื่อนได้

2.      การวางแผนและจัดการเวลา ใช้ปฏิทินหรือแอปพลิเคชันเพื่อจัดการตารางเวลา วางแผนล่วงหน้าและเตรียมตัวล่วงหน้าเท่าที่จะทำได้

3.      ขอความช่วยเหลือและแบ่งปันงาน แบ่งงานบ้านกับคู่สมรสหรือสมาชิกในครอบครัว

4.      ตั้งขอบเขตเวลาทำงานและเวลาครอบครัว เมื่อคุณทำงาน ให้มีสมาธิที่งาน และเมื่ออยู่กับครอบครัว ให้มีสมาธิที่ครอบครัวพยายามหลีกเลี่ยงการทำงานนอกเวลาที่กำหนด

5.      การดูแลตัวเอง การพักผ่อนและการดูแลสุขภาพสำคัญมาก นอนหลับเพียงพอ ออกกำลังกาย และทานอาหารที่ดีหาเวลาทำกิจกรรมที่คุณชื่นชอบและผ่อนคลาย

6.      รับมือกับความรู้สึกผิด ยอมรับว่าคุณไม่สามารถทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ และอย่ากดดันตัวเองเกินไป ให้กำลังใจตัวเองและจำไว้ว่าคุณกำลังทำดีที่สุด

     ชีวิตที่สมดุล ไม่ใช่แค่จริงจังกับงานที่ทำ แต่ต้องสนุกกับลูกและสิ่งรอบตัว มีความสุขไปด้วยกัน เพียงแค่ปรับมุมมอง เพิ่มเสียงหัวเราะ เติมพลังให้ตัวเอง เท่านี้ แม่ ๆ ก็สร้างสมดุลในชีวิตได้แบบสบาย ๆ

.

.

อ้างอิง

[1] ข้อมูลการสำรวจมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ระยะที่ 3 เดือนกันยายน 2563 ถึง สิงหาคม 2565 โดยศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.