วันคนพิการสากล
3 ธันวาคม ของทุกๆปีนั้น ก็คือ “วันคนพิการสากล”
เพื่อรำลึกเมื่อปี 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล
ผลการสำรวจความพิการ ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนคนพิการประมาณ 4.19 ล้านคน หรือร้อยละ 6.0 ของประชากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.1 ของผู้สูงอายุทั่วประเทศไทย หรือ มากกว่า 3 ใน 5 ของคนพิการทั้งหมด ซึ่งมากถึงร้อยละ 63.5 [1]
ปัญหาที่หนักกว่านั้นก็คือ คนพิการในประเทศไทย ร้อยละ 57.4 ไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการ และทำให้ไม่ได้รับสิทธิหรือสวัสดิการอย่างที่ควรจะได้อีกด้วย นอกจากนี้มีคนพิการ ร้อยละ 16.6 ที่ต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือหรือวัยวะเทียมในการดำรงชีวิตของตน [1]
จริงอยู่ที่คนพิการสามารถออกมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมได้มากกว่าสมัยก่อนมาก เพราะความทันสมัยของเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงค่านิยมของยุคสมัยที่มองคนพิการเปลี่ยนไป แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลอยู่อีกไม่น้อยเช่นกัน แน่อนว่าทั่วโลกในหลากหลายประเทศก็มีปัญหาแบบนี้
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงได้กลายเป็น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ซึ่งในประเทศไทยคงมีเป้าหมายดังนี้ [2]
เป้าหมายที่ 4 – สร้างหลักประกันว่าทุกคนรวมถึงผู้พิการจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม
เป้าหมายที่ 5 – บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิงผู้มีสภาพพิการ และแม้ว่า SDGs จะมิได้พูดถึงความเท่าเทียมของเพศทางเลือก (LGBT) โดยตรง แต่การสร้างความเท่าเทียมให้กับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพพิการก็มีความสำคัญเช่นกัน
เป้าหมายที่ 10 – ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ นั่นเพราะผู้พิการหลาย ๆ คน มีศักยภาพเทียบเท่ากับคนทั่ว ๆ ไป ผู้พิการทุก ๆ คนอยากเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมเฉกเช่นกับคนทั่ว ๆ ไป
เป้าหมายที่ 11 – ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานต่อภัยต่าง ๆ และยั่งยืน ทุกคนต้องไม่ลืมว่าผู้พิการเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางสูง ดังนั้นเมืองควรมีการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ และควรจัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเข้าถึงได้โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย
เป้าหมายที่ 13 – ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
เป้าหมายที่ 16 – ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ
นอกจากสิทธิพึงจะได้แล้ว ยังเสริมสร้างสิทธิในการใช้ชีวิตหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่คนพิการสามารถเข้าร่วมได้อย่างเช่น Paralympic Games ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาของคนพิการที่จัดขึ้นเป็นระดับโลก ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้ได้เลือกแข่งขัน
ทางโครงการของเรานั้นสนับสนุนให้ คนพิการทุกคนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
อ้างอิง
[1] ผลการสำรวจความพิการ ปี2565 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ [อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566]. จาก: https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/การแถลงผลการสำรวจความพิการ-พศ-2565
[2] “ผู้พิการในประเทศไทย และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน – กับคุณเจนจิรา บุญสมบัติ” [อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566]. จาก: https://www.sdgmove.com/2018/04/30/gawa/