วันเอดส์โลก

1 ธันวาคม ของทุกปี คือ “วันเอดส์โลก” มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือรณรงค์เพื่อยุติการระบาดของโรคเอดส์


โรคเอดส์ (AIDS) คือการติดเชื้อไวรัส HIV โดยเชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปทำลายภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำให้ร่างกายอ่อนแอลงและเป็นโรคง่าย เป็นโรคร้ายแสนอันตรายที่มีความเสี่ยงถึงชีวิต โดยสามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ จากการสัมผัสเลือดหรือใช้ของส่วนตัวที่มีผิวสัมผัสที่ทำให้เกิดแผลร่วมกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงติดต่อจากแม่ขณะอยู่ในครรภ์ 


จากสถิติของ HIV INFO HUB หรือ ศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศต้านเอชไอวีของประเทศไทย ในปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ถึง 11,000 คน [1] และองค์การเภสัชกรรมระบุว่ามีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโรคดังกล่าวนี้ถึง 630,000 คน [3]


จากความรุนแรงของการระบาดของโรคเอดส์ทำให้ การยุติโรคเอดส์เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของ SDGs (Sustainable Development Goals) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน [2]

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้มีการจัดวงประชุม การติดเชื้อ HIV เกิดจากความเหลื่อมล้ำ : การอภิปรายในประเด็นความเหลื่อมล้ำเพื่อการยุติโรคเอดส์: 10 ปี ถึง 2030 (Addressing Inequalities to End AIDS: 10 Years to 2030) ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวทีรองในงาน United Nations High-Level Meeting on AIDS โดยเป็นเวทีสนทนาระหว่างคนทำงานในประเทศสมาชิกสหประชาชาติและของคนจากทางโครงการ เพื่อแชร์ประสบการณ์ในการจัดการเกี่ยวกับโรคเอดส์  [2]


โรคเอดส์เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย - SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ [2]

ผู้อภิปรายได้กล่าวถึงความสำคัญของบทเรียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของHIVและCovid-19 ที่ทำให้โลกได้เห็นว่า โรคระบาดจะยังคงลุกลามต่อไป เว้นเสียแต่ว่าทุกประเทศ ทุกชุมชน และทุกคนจะสามารถเข้าถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยปราศจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีที่เป็นธรรมและการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกันและมีความเคารพต่อความหลากหลายทั้งหมดเท่านั้น

ตัวอย่างสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการแพร่ระบาดของเอชไอวีที่เกิดขึ้น คือ ผู้ติดเชื้อHIVใหม่ที่เป็นวัยรุ่นในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราเป็นเพศหญิงถึง 6 ใน 7 ราย หนึ่งในผู้อภิปรายคือผู้อำนวยการบริหารของ UNAIDS ได้ตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นเพราะความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจระหว่างเพศ ที่ต้องแก้การการแก้ไขโดยมุ่งเน้นให้บริการป้องกันในระดับชุมชนเป็นพิเศษแก่เด็กสาววัยรุ่น ผู้หญิงและคู่ชีวิตของพวกเธอ [2]

ในประเทศไทยนั้น องค์การเภสัชกรรม ได้มีการพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์ และ รักษาโรคแทรกซ้อน เพื่อให้ผู้ป่วยใหม่เข้าถึงยาได้มากขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมุ่งสู่เป้าหมายยุติโรคเอดส์ ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ตามตั้งใจของ SDGs ดังกล่าว [3]

_____________

อ้างอิง

[1] ผลสำรวจผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ปี2565 โดย ศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศต้านเอชไอวีของประเทศไทย [อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566]. จาก: https://hivhub.ddc.moph.go.th/epidemic.php

[2] “UNAIDS จัดวงประชุมในหัวข้อ “แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อยุติโรคเอดส์ : 10 ปี ถึง 2030” [อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566]. จาก: https://www.sdgmove.com/2021/06/11/unaids-addressing-inequalities-to-end-aids/

[3] “อภ.ลุยพัฒนายาต้านเอดส์สูตรใหม่ ปรับลดราคายา เพิ่มการเข้าถึง” [อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566]. จาก:https://mgronline.com/qol/detail/9660000107199