อย่าตกเป็นเหยื่อ! 4 วิธีรู้เท่าทันสื่อโซเชียล
ปฎิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเป็นเหมือนอวัยวะที่ 33 ของเราไปแล้ว เป็นเครื่องมือที่อยู่ติดมือแทบจะตลอดเวลา และกลายเป็นของจำเป็นอันดับต้น ๆ ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะสั่งอาหาร ช้อปปิ้ง จ่ายเงิน ทำธุรกรรม ดูหนัง ดูซีรีส์ ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ดูไลฟ์หรือการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก และที่สำคัญใช้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร แต่มันก็เป็นดาบสองคม เพราะสื่อออนไลน์ก็มีข้อเสีย อาจเป็นอันตรายหรือกลายเป็นเครื่องมือที่บั่นทอนความสุขได้ง่าย ๆ หากใช้ไม่ระวัง
สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) เผยผลสำรวจออนไลน์ปี 2563 ว่า เด็กร้อยละ 90 เล่นเกมออนไลน์ ในจำนวนนี้เด็กมากกว่าครึ่ง ใช้เวลาเล่นเกมมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 15 มีการเล่นพนันในเกม อีกงานวิจัยก็พบว่า เด็ก 51.7% เคยพูดคุยกับคนไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ และเด็ก 33.6% ให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ภาพถ่ายของตัวเอง หรือครอบครัว ผ่านสื่อออนไลน์ พฤติกรรมเหล่านี้อาจนำภัยอันตรายสารพัดมาถึงตัวได้
หากคุณเป็น 1 คนที่อยากอยู่ในโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย Happy University ชวนทุกคนให้ลองทำตาม 4 วิธีนี้ไปพร้อม ๆ กัน เริ่ม!
1. เลือกรับแต่สิ่งดี ๆ ที่สร้างความสุข
โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เราสามารถเชื่อมต่อทางสังคมที่กว้างออกไปถึงระดับโลก และครอบคลุมทุกความสนใจ เราเลือกที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ได้ และพิสูจน์แล้วว่าการใช้โซเชียลให้เป็นประโยชน์จะส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีได้ เริ่มต้นเพียงการส่งข้อความง่าย ๆ ในกลุ่มที่สร้างพลังบวก เช่น การแสดงความขอบคุณ หรือการส่งความระลึกความห่วงใยถึงกันในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งพลังบวกให้กับสังคมและคนอื่น ๆ นอกจากนี้นักวิจัยยังบอกด้วยว่า โซเชียลมีเดียช่วยกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจ และเหงาน้อยลง 30% ของคนหนุ่มสาวที่มีอาการซึมเศร้าบอกว่าการใช้โซเชียลมีเดียเมื่อรู้สึกหดหู่ เครียด หรือวิตกกังวลมักจะทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น ในขณะที่มีเพียง 22% เท่านั้นที่บอกว่าทำให้พวกเขารู้สึกแย่ลง
2. มีส่วนร่วมบ้าง อย่าเอาแต่ส่อง
ปัจจุบันผู้คนใช้เฟซบุ๊กแบบเป็นผู้รับอย่างเดียวมากขึ้น เช่น การเลื่อนหน้าจออ่านฟีดส่องเพื่อนโดยไม่โต้ตอบกับผู้อื่น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ไม่ดีต่อสุขภาพจิตเอาซะเลย การใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฉยเมยอาจทำให้คุณนึกเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น และทำให้รู้สึกด้อยค่าในตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว
แต่คนที่อยู่บนสื่อโซเชียลแบบมีส่วนร่วม เช่น กดไลค์ คอมเม้นต์ และเขียนหรือโพสต์ มักจะมีอาการซึมเศร้าในระดับต่ำ และเมื่อได้รับการตอบรับเชิงบวก มีคนชอบ ได้รับการสนับสนุน ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและทำให้อาการซึมเศร้าลดลง การมีส่วนร่วมในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีความหมายสามารถสร้างความสุขที่แท้จริงจากการใช้สื่อออนไลน์ได้ด้วย
3. เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
สื่อออนไลน์เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านต่าง ๆ ได้แค่ปลายนิ้ว ถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมสำหรับคนที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น การหาข้อมูลด้านการศึกษา ธุรกิจ สุขภาพ โลกเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วินาที การอัปเดตข้อมูลก็เช่นเดียวกัน วันนี้สิ่งที่เราศึกษามาอาจจะใหม่ที่สุด แต่อีกไม่กี่วันอาจจะมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้นอีก หากเราอยากเป็นคนที่เก่งที่มีคุณภาพ ให้ทำตัวเหมือน “น้ำครึ่งแก้ว” อย่าหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
เราทุกคนพยายามดูแลจิตใจและร่างกายและสามารถใช้สื่อออนไลน์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ง่าย ๆ ยิ่งปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงและทันสมัยขึ้นมาก ยิ่งเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เช่น แอปพลิเคชั่นสุขภาพที่ช่วยให้เราติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกายและสุขภาพของตัวเองได้ง่าย ๆ หากทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน และการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นจากแอปพลิเคชั่นช่วยให้เรามีแรงจูงใจที่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราได้
“สื่อออนไลน์สามารถสร้างผลเสียที่ร้ายแรงในวงกว้างได้ แต่มันจะทำอะไรคุณไม่ได้เลยหากใช้อย่างระมัดระวังและรู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้มันเข้ามารบกวนหรือดึงเราออกจากการใช้ชีวิตที่มีความสุขเป็นเป้าหมายสำคัญ ใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นเลือกเสพแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ และเน้นการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
********************************
อ้างอิง
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์. ทันก่อนมีโทษ กฎหมายและข้อห้ามของ 'Fake News' (2563).
เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/873773
Outsmart Your Smartphone: Conscious Tech Habits for Finding Happiness, Balance, and Connection IRL (2562).
เข้าถึงได้จาก https://greatergood.berkeley.edu/article/item/four_ways_technology_can_make_you_happier
ฉัตร์ชัย นกดี . เติมความรัก ติดความรู้ สู้ภัยออนไลน์ (2563).
เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/53641-เติมความรัก%20ติดความรู้%20สู้ภัยออนไลน์.html
ฉัตร์ชัย นกดี. สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ อย่างไรให้ปลอดภัย (2562).
เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/50143-สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ. (2560). 10 วิธีเลิกเหล้าด้วยตนเอง.
เข้าถึงได้จาก https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/b22b5762-12e6-e611-80dc-00155dddb706?isSuccess=False