The International Day of Happiness 20 March 2021


HAPPY WORKPLACE & HAPPY FAMILY
VS
COVID 19 Situation

ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานองค์กรแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็น “วันความสุขสากล”  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระลึกว่า

“ความสุข เป็นพื้นฐานของมนุษยชาติ 
และส่งเสริมให้สร้างความสุขอย่างยั่งยืน
ทั้งตนเองและผู้อื่น”

โดยให้แต่ละประเทศ พยายามผลักดันนโยบายสาธารณะที่ยุติความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และร่วมมือกันปกป้องโลกใบนี้ ถือเป็น 3 กุญแจสำคัญ ที่นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขให้กับประชาชน ซึ่งธีมแคมเปญของวันความสุขสากลในปี 2021 คือ Happiness For All Forever ที่พยายามให้เหล่ามวลมนุษยชาติมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน เพื่อเพิ่มพูนความสุขของตนเอง องค์กร สังคม และประเทศชาติ ในสถานการณ์ที่ทุกคนถูกธรรมชาติบังคับ ให้ต้องเริ่มต้นการใช้ชีวิตในแบบวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโลกกับ COVID-19

ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2019 เกิดโรคปอดอักเสบชนิดที่ไม่เคยมีในการบันทึกมาก่อน ระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาคมโลก เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านระบบทางเดินหายใจ และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020 เป็นวันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่อโรคจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการว่า COVID-19 หรือ โรคโควิด 19 

การแพร่ระบาดในครั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคโควิด 19 เป็น "ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic)" ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทุกภาคส่วนทั่วโลก โดยเฉพาะส่งผลกระทบด้านการเงินมากที่สุด เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งในเรื่องของการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเดินทาง และการท่องเที่ยว ฯลฯ

  • ผลกระทบจากโควิด 19 สู่องค์กรในประเทศไทย

  สำหรับประเทศไทย เมื่อวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอันดับแรก และหนักที่สุดก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป ผลกระทบที่สร้างความเสียหายมหาศาลครั้งนี้ ได้ลุกลามไปในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ และด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่ประกาศปิดเมือง (Lock Down) เพื่อหยุดกิจกรรมในการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่ตกอยู่ในพื้นที่ Red Zone จึงส่งผลต่อองค์กรเป็นอย่างมาก โดยต้องออกนโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) เพื่อป้องกันการระบาด และองค์กรที่ได้รับผลกระทบมาก อาจมีการขอปรับลดเงินเดือนและวันทำงาน จนถึงการจ้างออก หรือไม่ต่อสัญญาจ้างใหม่ เนื่องจากไม่สามารถแบกภาระไว้ได้ 

  • องค์กรแห่งความสุข & ครอบครัวมีสุข ในวิกฤติ โควิด 19 

  จากการสำรวจเร่งด่วนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับองค์กร และครอบครัวคนทำงาน ขณะตกอยู่ในวิกฤติ โควิด 19 ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 22 พฤษภาคม 2563 ด้วยการส่งแบบสอบถามตอบด้วยตนเอง (Self-Administered Questionnaire) ไปยัง คนทำงาน จำนวน 3,310 คน ใน 73 ภาคีเครือข่าย “องค์กรแห่งความสุข: Happy Workplace และครอบครัวมีสุข (Happy Family) ” ที่เป็นองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ วิสาหกิจชุมชน กระจายอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยโครงการ “การสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 

 ภาคีเครือข่ายองค์กรแห่งความสุข ร้อยละ 87 สามารถต้านทานและยังอยู่รอดได้
ร้อยละ 13 ต้องหยุดกิจการชั่วคราว
คนทำงานและครอบครัว เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 97.6) ได้รับผลกระทบ 
ร้อยละ 2.4 ระบุว่าไม่มีผลกระทบ


ที่มา: การสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคนทำงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19)

เรื่องที่กระทบกับคนทำงานมากที่สุด
  อันดับ 1 ค่าใช้จ่ายโดยรวมที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ ร้อยละ 35 
  อันดับ 2 ความวิตกกังวลหรือความหวาดระแวงการติดเชื้อ ร้อยละ 19.1  
  อันดับ 3 การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันในสังคม ร้อยละ 15.5  
  อันดับ 4 การปรับเปลี่ยน (รูปแบบ/ วิธี/ เวลา) การทำงาน ร้อยละ 13.3  
  อันดับ 5 การเดินทางที่ทำเป็นประจำ ร้อยละ 7.1  
  อันดับ 6 ครอบครัว ร้อยละ 6.5 
  อันดับ 7 อื่น ๆ ร้อยละ 3.0

  สอดคล้องกับวิกฤติเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่หยุดชะงักลง ความวิตกกังวลถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตคนทำงานก็เพิ่มมากขึ้นด้วย


  • การรับมือขององค์กรแห่งความสุขและครอบครัวมีสุขกับวิกฤติโควิด 19

  การถอดบทเรียนกลุ่มภาคี “องค์กรแห่งความสุข” และ “ครอบครัวมีสุข” ในการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19


1. พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพิ่มการเรียนรู้ ก้าวสู่ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

  คุณทัศนัย คงวิพัฒนานุกูล ผู้บริหารของบริษัท ท้อปแก๊ส ซีแอนด์ดับบลิว จำกัด ใช้สถานการณ์นี้ทบทวนวัฒนธรรมองค์กรเดิม และปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันสมัย เช่น พัฒนาให้พนักงานมีทักษะทางด้านดิจิทัล รู้จักเครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน ในการประชุมทางไกล ฯลฯ สามารถทำงานจากที่บ้านได้ และมีการยืดหยุ่นในเรื่องเวลาเข้างาน โดยพิจารณาเป็นกรณี ๆ กลยุทธในการเผชิญหน้าโควิด 19 ไม่ใช่การหาแหล่งเงินทุนสำรองอย่างที่หลายบริษัททำ แต่เป็นการเตรียมพร้อมและยกระดับองค์กรเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน ซึ่งการปรับตัวของคนทำงานไม่เพียงแต่ช่วยให้องค์กรเปลี่ยนผ่านในช่วงวิกฤตได้เป็นอย่างดี แต่วิถีใหม่ที่เกิดขึ้นก็ช่วยให้วิถีปฏิบัติของการทำงานต่อจากนี้ราบรื่นยิ่งขึ้นด้วย


  บริษัท อีซูซุกาญจนบุรี จำกัด คุณณัฐรินทร์ พงษ์วิทยาภานุ กรรมการผู้จัดการ ได้ปลูกฝังเรื่องการคิดนอกกรอบ ทำให้อะไรใหม่อยู่เสมอ และการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาประยุกต์ใช้กับส่วนงานต่าง ๆ โดยเฉพาะงานขาย ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต ในกรณีที่พนักงานไม่มีความถนัดก็จะมีที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือ และเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 จึงสามารถปรับตัวรับมือได้ วิธีการหลัก ๆ คือ การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ และใช้การโทรหาลูกค้าเพื่อให้รู้ยอดผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการทุกวัน สามารถประเมินรายได้ขององค์กรในช่วงเกิดวิกฤติได้ และจัดการระยะห่างทางสังคมได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานด้วยการให้นำของมาขายในบริษัทได้ เช่น เสื้อผ้า อาหาร เป็นต้น


2. องค์กรเข้มแข็ง ส่งแรงใจดูแลสังคมรอบข้าง

บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด ผู้ส่งออกเนื้อปูบรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์จากปูทะเล ประสบปัญหาระหว่างสถานการณ์โควิด 19 ในเรื่องการส่งออกไปยังตลาดอเมริกาและยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดหลัก กลยุทธในการเผชิญหน้าโควิด19 บริษัทหันมาจัดจำหน่ายภายในประเทศผ่านระบบออนไลน์แทน โดยได้พัฒนาการขายผ่านระบบออนไลน์อย่างจริงจัง ทั้งนี้ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน จึงมีการช่วยเหลือพนักงานและชาวบ้านที่อยู่ระแวกใกล้เคียงที่เผชิญวิกฤติโควิด 19 ด้วยกันอย่างไม่ขาดสาย เช่น การแจกข้าวสารอาหารแห้ง การเยี่ยมบ้านเพื่อดูสารทุกข์สุกดิบและความเป็นอยู่ ฯลฯ คุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า “เราเติบโตมาจากการเป็นแม่ค้า มีความผูกพันกับคนในสังคม การบริหารธุรกิจจึงเน้นมิตรภาพและการช่วยเหลือกัน มากกว่าการแสวงหากำไรสูงสุด ยิ่งในช่วงโควิด 19 ก็ยิ่งต้องดูแล”


     3. ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากเชิงรับ เป็นเชิงรุก

ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบปลาเมืองนรา แบรนด์ Be Fish เน้นส่งออกไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลให้ยอดขายบริษัทลดลงมาก จนต้องลดวันทำงาน จากเดิมที่ทำธุรกิจเชิงรับ คือ มีผู้สนใจเข้ามาติดต่อนำสินค้าไปจำหน่ายต่อ หลังจากนั้น คุณอุษา เซะบากอ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ได้ระดมทีมงานและปรับกลยุทธ์เปลี่ยนมาทำงานเชิงรุก มีการไปนำเสนอขายเอง เพิ่มช่องทางการขาย ทั้งออนไลน์และฝากหน้าร้าน เพื่อประคับประคองให้กิจการยังไปได้ เนื่องจากแต่เดิมที่เริ่มทำธุรกิจ ก็เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้มีงานทำ ไม่ต้องย้ายไปทำงานที่อื่น


      4. เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปัตตานีคอมเมอร์เชียล เป็นศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกฮีโน่ (HINO) ได้รับผลกระทบสูงในช่วงการระบาดของโควิด 19 ขายรถแทบจะไม่ได้เลย แม้จะไม่ได้ให้พนักงานออก แต่ก็ต้องลดวันทำงานลง แนวทางแก้ไขคือ “การประคับประคองให้ผ่านช่วงยากลำบากนี้ไปให้ได้” ซึ่งแน่นอนว่า พนักงานจะได้รับผลกระทบเรื่องการเงินมากที่สุด เพราะแม้ตัวพนักงานจะยังทำงานอยู่ แต่คนในครอบครัวที่ถูกให้ออกจากที่ทำงานก็มี คุณณชิฤร์กฤษณ์ ชคทิศ หุ้นส่วนผู้จัด จึงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร คือ พนักงานรวมตัวกันทำกิจกรรมออมเงิน เพื่อให้มีเงินเก็บในยามฉุกเฉิน และมีกองทุนสำหรับกู้ยืม

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ผู้บริหารองค์กรแห่งความสุข ได้นำพาองค์กรรอดพ้นจากวิกฤตโควิด 19 ด้วยกลยุทธ

ที่พร้อมเผชิญหน้า ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และรับมือ กับสถานการณ์ต่าง ๆ 



  • ทางรอดขององค์กร ทำงานอย่างไรให้มีความสุขในช่วงวิกฤตโควิด 19

การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้องค์กรรู้ว่า วิถีและวิธีการทำงานแบบเดิม ไม่ตอบโจทย์การทำงานในศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป การที่จะสามารถพาให้องค์กรรอดพ้นจากวิกฤตได้ จำเป็นต้อง 

1. เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรถึงระดับแก่น เช่น ยืดหยุ่นเรื่องเวลาเข้างาน เปลี่ยนมาสร้างวินัยและความรับผิดชอบต่อหน้าที่แทน เน้นทำงานให้เสร็จและมีประสิทธิภาพตามที่ได้รับมอบหมาย มากกว่าเข้มงวดเรื่องเวลาเข้างาน 

2. เพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลและการใช้สื่อออนไลน์ ทั้งภาคการผลิต การค้า และการบริการ ปฏิเสธไม่ได้ที่คนทำงานต้องประยุกต์การสื่อสารออนไลน์เข้ามาในสายงาน ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การขาย การติดต่อกับลูกค้า/คู่ค้า การโฆษณาและสร้างแบรนด์ดิ้ง ฯลฯ ซึ่งนอกจากเป็นการรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้ดีแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อีกด้วย 

3. ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การประยุกต์ และบูรณาการ เนื่องจากหลายอาชีพในปัจจุบันเริ่มหายไปจากสังคม ที่มีอยู่ก็ไม่เหมือนเดิม คนทำงานจะทำแบบเดิมอย่างที่คุ้นเคยไม่ได้ ต้องรู้จักการปรับเปลี่ยน และบูรณาการ ซึ่งจะเป็นทักษะที่จะทำให้กิจการยังคงไปต่อได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด 

4. การคำนึงถึงคนทำงานและครอบครัว เนื่องจากองค์กรขับเคลื่อนไปได้ก็ด้วย “คนทำงาน” ดังนั้น การดูแลให้พนักงานมีความสุข จะทำให้คนทำงานเชื่อมั่นในองค์กรและตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดี การดูแลดังกล่าวไม่เพียงแค่ในพื้นที่องค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสุขที่บ้าน หรือครอบครัวของคนทำงานด้วย แทบจะไม่สามารถแยกความสุขในที่ทำงานออกจากความสุขที่บ้านได้เลย และทั้งสองก็ส่งผลต่อกันเสมอ

ความปกติใหม่ หรือ New Normal จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถาวรนับจากนี้ ไม่ใช่แค่ในช่วงการระบาด และไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแค่ระดับบุคคล หรือพฤติกรรมเชิงปัจเจก แต่ปรับเปลี่ยนทุกองคาพยพ รวมถึงภาคธุรกิจที่ต้องรื้อโครงสร้างธุรกิจแบบเดิม แล้วปรับใหม่ อย่างรวดเร็วอีกด้วย

      ว่ากันว่า
วิถีชีวิตของมนุษย์เรา โดยเฉพาะคนทำงานจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามโลกยุคดิจิตอลอยู่แล้ว เพียงแต่โควิด 19 เป็นตัวเร่งให้เราต้องปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดเท่านั้นเอง...

แหล่งอ้างอิง: