4 วิธีกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว
รักนะ… 4 วิธีกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว
แม้โลกนอกบ้านวุ่นวาย
ความเครียดพุ่งปรี๊ด แต่อย่าปล่อยให้ปัญหานอกบ้านตามมาในรั้วบ้าน เพราะครอบครัว
คือ สถานที่ที่เราสบายใจ ถ้าในครอบครัวมีความสุข
ร่มเย็น คนในบ้านรักกัน มีความอบอุ่นใจ จะช่วยชาร์จพลังให้พร้อมออกไปสู้ข้างนอกใหม่ ครอบครัวที่มีความสุขหรือ Happy Family จึงเป็นอีกหนึ่งมิติของความสุขพื้นฐานที่ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันเพิ่มพูน
แต่บางครั้งก็ยากนะ
เพราะคนในครัวครัวมีความหลากหลายไม่ต่างจากสังคมข้างนอก มีคนหลายวัยอยู่ด้วยกัน
แต่ละคนก็มีความคิดที่ไม่เหมือนกัน มีความต้องการต่างกันไป อดไม่ได้ที่จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง
Happy
University มีข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทุกคนช่วยกันสานความสัมพันธ์ในครอบครัว
ให้เป็นสถานีเติมพลังให้เราพร้อมจะก้าวไปอย่างแข็งแรง
รักก็บอกว่ารัก
ห่วงใยให้ดูแลกัน
นึกถึงบรรยากาศละมุนเหมือนในซีรี่ส์เกาหลีที่เราติดกันงอมแงมสิ
อยากให้มีโมเม้นต์นี้ที่บ้านเราบ้าง ต้องอย่าเขินที่จะบอกรักกัน
การบอกรักกันในครอบครัวจะทำให้เกิดพลังบวก เกิดความมั่นใจ
และเชื่อมั่นในตนเอง ถ้าเขินมากลองหาวิธีบอกอ้อม
ๆ แสดงความห่วงใยกัน เช่น เหนื่อยไหม
อยากกินอะไร กินข้าวหรือยัง
มีอะไรให้ช่วยไหม หรืออาจแสดงออกทางกาย
เช่น กอดกัน ช่วยหยิบของให้ ช่วยนวดเท้านวดมือให้คุณตาคุณยายบ้าง สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ
ที่เรามองข้ามบางทีก็มีความหมายและสะท้อนความสัมพันธ์ได้ดี เช่น
การหยิบแว่นตาวางไว้ให้ใกล้มือคุณพ่อโดยไม่ต้องรอให้คุณพ่อขอร้อง ช่วยทำงานบ้านเล็ก
ๆ น้อย ๆ นอกจากจะช่วยรักษาความสะอาด เป็นระเบียบในบ้านแล้ว
ยังสะท้อนถึงความห่วงใยด้วย จะวิธีไหน
คุณเลือกได้ตามความถนัดเลย
สำหรับในวันหนัก
ๆ ที่สมาชิกคนใดในครอบครัวมีปัญหา ไม่ว่าจะการเรียน การทำงาน เรื่องส่วนตัว การเล่าให้คนในครอบครัวฟังจะช่วยระบายความกังวล
ความเครียด ความเศร้า ช่วยให้คำแนะนำ ทางทางออกได้ด้วย บางทีแค่ยิ้มที่ส่งให้กัน จับมือ หรือกอดกันก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ได้แล้ว
ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ร่วมกัน
การหากิจกรรมที่ทุกคนในบ้านทำร่วมกันได้ก็น่าสนใจนะ ไม่ต้องเป็นจริงเป็นจังขนาดมีแผน
มีวัตถุประสงค์ มีกระบวนการ มีการวัดผลเหมือนกิจกรรมทีมบิลดิ้งในที่ทำงานหรือในโรงเรียน
อันนั้นก็เกินเบอร์ไปหน่อย อาจเป็นกิจกรรมง่าย
ๆ มีประโยชน์ ไม่มีสาระบ้าง เฮฮาปาร์ตี้บ้าง แล้วแต่สไตล์บ้านใครบ้านมัน
บ้านไหนผู้สูงวัยเยอะ อาจจะยกครอบครัวไปกินข้าวนอกบ้านกันบ้าง
พาไปสถานที่ที่คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายชอบ หรือให้ลูกหลานสอนวิธีถ่ายภาพให้ปังด้วยโทรศัพท์มือถือ
สอนตกแต่งภาพสวย ๆ สำหรับส่งไลน์สวัสดีวันจันทร์บ้างก็ยังได้ บ้านไหนมี Gen Y กับ Gen Z เยอะหน่อย อาจจะสนใจออกไปเล่นเซิร์ฟสเก็ต ปั่นจักรยาน อีสปอร์ต ใครฮาร์ดคอร์จะลงวิ่งมาราธอนทั้งครอบครัวก็ไม่ว่ากัน
คุณพ่อคุณแม่อาจจะจูงมือลูกเข้าร่วมกิจกรรมของที่ทำงานได้
เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้จัด “โครงการบูณราการความสุข ชาว ม.อ.ภูเก็ต”
นำบุคลากรและครอบครัวดูงานการทำน้ำพริกของกลุ่มแม่บ้านชุมชนบ้านผักฉีด ต.ป่าคลอก
อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองทำน้ำพริกเอง
ได้คุยกับคนในชุมชน ได้เมนูเด็ดกลับไปทำเองที่บ้าน และยังได้เที่ยวด้วยกันอีก
เรียกว่ากิจกรรมเดียวสานสัมพันธ์ได้ทั้งระหว่างคนในครอบครัว ในที่ทำงานเดียวกัน
และชุมชนไปพร้อมกัน
ทำดีต้องชม
ทำดีก็ควรได้รับคำชมจริงไหม
ถ้าคนในครอบครัวมีพฤติกรรมที่ดี ประสบความสำเร็จ
หรือแม้กระทั่งการทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ชมเลยจ้าอย่าปากหนัก ไม่ต้องกลัวลูกหลานจะเหลิง
เวลาพูดคุยกันควรใช้คำที่ฟังแล้วสบายใจ
ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล จะช่วยให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่น น่าอยู่ สมาชิกในครอบครัวมีกำลังใจ
มีความมั่นใจ มีพลังที่จะทำในสิ่งที่ดียิ่งขึ้นไป แต่ควรระวังอย่าชมมากเกินพอดีหรือดูไม่จริงใจ เมื่อไรที่เราออกไปนอกบ้าน แล้วเผชิญกับปัญหาต่าง
ๆ เมื่อนึกถึงคนในครอบครัว เราจะตั้งสติได้เร็ว และรับมือกับทุกเรื่องราวได้
รับฟังและเปิดใจ
ใครจะชอบฟังคนอื่นติหรือค้านสิ่งที่เราคิดหรือทำล่ะ
ยิ่งช่องว่างระหว่างวัยนับวันจะมากขึ้น
โลกที่หมุนเร็วขึ้นอาจทำคนให้บางเจเนอเรชั่นในบ้านตามไม่ทัน
ความไม่เข้าใจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันบ่อย ๆ ต้องใจเย็น ต้องเตือนกัน ถ้าเราไม่เตือนกันเองในครอบครัวใครจะมาเตือนเราได้
สำหรับการติและเตือน
ต้องมีเทคนิคและลีลากันหน่อยเพื่อรักษาบรรยากาศที่ดี
และทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น ถ้าลูกทำไม่ดี พ่อแม่ควรดูบรรยากาศก่อนว่าลูกพร้อมจะฟังคำติคำเตือนไหม
กำลังอารมณ์ร้อนอยู่ไหม เวลาติหรือเตือน ควรเจาะจงในพฤติกรรมที่ต้องการเตือน
อย่าพาลไปเรื่องอื่น ๆ ต้องให้แนวทางด้วยว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้ควรทำอย่างไร
อย่าลืมว่าเวลาติหรือเตือน อย่าทำต่อหน้าคนอื่นให้ลูกอาย ลูก ๆ เองก็สามารถเตือนพ่อแม่ได้เช่นกัน
พ่อแม่ก็ควรรับฟัง เปิดใจ และหาจุดกึ่งกลางที่ทุกคนจะพอใจร่วมกัน
การรับฟัง
สำคัญมากสำหรับพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้าน สิ่งที่เป็นบรรทัดฐานในรุ่นก่อน
อาจไม่ใช่สำหรับวันนี้ เช่น การสักตามร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสำหรับคนทั่วไปเมื่อ
50 ปีก่อน แต่วันนี้การสักกลายเป็นแฟชั่น
เป็นการแสดงออกถึงความชื่นชมในความงามและศิลปะ
การอยู่ก่อนแต่งอาจทำให้ถูกมองไม่ดีเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่วันนี้กลายเป็นเรื่องของสิทธิที่จะเลือก
และไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงในสังคม
ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยินดีและรู้จักดูแลตัวเองอย่างดี
ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่อาจจะทำใจยากสำหรับคนเจเนอเรชั่นพ่อแม่
แต่ถึงเวลาที่เราต้องปรับตัว ยืดหยุ่น และรับฟังอย่างเปิดใจ
Happy University นำคำแนะนำ 4 ข้อง่าย ๆ แต่ไม่ง่ายมาให้อ่านกันวันนี้ ลองเริ่มทำทีละเล็กทีละน้อย ค่อย ๆ ปรับไปในครอบครัว แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ปัญหาอะไร ใหญ่แค่ไหน ขอแค่ให้ในครอบครัวเรามีความรักความอบอุ่นมีความสุขเท่านี้ก็พอ และเมื่อเรามี Happy Family แล้ว ความสุขมิติอื่นๆ จะตามมาเอง
*******************************
อ้างอิง
1. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2561). โครงการ “บูรณาการความสุข ชาว ม.อ.ภูเก็ต” เข้าถึงได้จาก https://web1.phuket.psu.ac.th/emeeting_hwp/images/Files/73.2.pdf
2. Bonded. (2561). เมื่อลูกสาวขอสัก?. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/120676879729849/videos/236335267626669
3. Donnaya Suvetwethin. (2560). เคล็ดลับ `สร้างสุขครอบครัวไทย’. เข้าถึงได้จาก
https://www.thaihealth.or.th/Content/38341เคล็ดลับ+%60สร้างสุขครอบครัวไทย%60.html
4. Phichitra Phetparee. (2562). เทคนิคเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว. เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/47325-เทคนิคเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว.html