เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home
“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข”
คำขวัญคุ้นหูคนทำงานที่ได้ยินกันมา ตั้งแต่ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2502 – 2506 หรือประมาณ 40 ปีมาแล้ว1 ชี้ให้เห็นการรับรู้ของตลาดแรงงานไทยว่า “งานเป็นแหล่งที่มาของความสุข” เมื่อทำงานแล้วเกิดรายได้ รายได้ก็สร้างความสุขให้กับคนทำงาน คำขวัญนี้อาจเป็นตรรกะที่สอดคล้องกับคนทำงานในยุคสมัย แต่เมื่อเวลาเดินมาถึงปัจจุบัน สภาพแตกต่างของความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคท้าทายได้แปรผันไปตามกาลเวลาแล้วอย่างสิ้นเชิง แน่นอน ความสุขของคนเป็นพลวัตรย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยแวดล้อม และพฤติกรรม เมื่อความสุขเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา คำถามที่น่าติดตาม คือ “งานคือเงิน” และ “เงินคืองาน” “ยังบันดาลสุข” ให้กับคนในยุคนี้อยู่หรือไม่
ได้รับอนุญาตจากเจ้าของรูปให้เผยแพร่
นักจิตวิทยาในปัจจุบันมองว่า “เงิน ซื้อความสุขไม่ได้”2,3 เพราะความสุขจากทรัพย์สินเงินทองเพียงอย่างเดียวเป็นความสุขที่ไม่จีรัง ความสุขความปลาบปลื้มของคนที่ถูกลอตเตอรี่เลขท้ายสองตัวอยู่ได้นานที่สุดแค่สองสัปดาห์ เมื่อถึงรอบการประกาศผลสลากกินแบ่งงวดต่อไป จะสุขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการออกสลากงวดใหม่ สำหรับคนทำงาน เงินซื้อความสุขได้หรือไม่ โดยเฉพาะในวันที่เราอยู่ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ความมั่นคงทางการเงินช่วยเสริมสร้างความสุขในชีวิตให้กับเราได้ไหม ข้อมูลความสุขคนทำงานระดับประเทศ รอบปี 25634 ให้คำตอบเราได้ และจะพาเราฉายภาพไปยังปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญกับความสุขของเราได้อีกด้วย
ได้รับอนุญาตจากเจ้าของรูปให้เผยแพร่
เงินสร้างความสุขในชีวิตได้ไหม ในวันที่วิกฤติถาโถม
ในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการเข้มงวดต่างๆ เพื่อควบคุมการกระจายของเชื้อโรค COVID-19 เชื่อแน่ว่า มีหลายคนรีบเบิกเงินสดจากธนาคารมาเก็บไว้เพื่อรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงดูเหมือนว่า เงินเป็นสิ่งจำเป็นที่สร้างความมั่นใจว่าจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตต่างๆ ได้ ความมั่นใจนี้ สร้างคำถามว่า “เงินช่วยให้มีความสุขในช่วงเวลาวิกฤติได้จริงหรือ……..?”
มาดูคำตอบกัน
ผลการวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองทางสถิติในการทดสอบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของคนทำงานองค์กรในประเทศไทย
ปี 2563 แสดงแนวโน้มว่า “เงินบันดาลสุข” ให้กับคนทำงานได้
(ตารางแบบจำลองแสดงไว้ในส่วนท้าย)
และอิทธิพลของเงินก็ยังไม่ด้อยไปกว่าปัจจัยสำคัญในชีวิตอื่นๆ เช่น สุขภาพ
ครอบครัว งาน เป็นต้น โดยแบบจำลองวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ ชี้ว่า
ความมั่นคงทางการเงินช่วยเพิ่มระดับความสุขของคนทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(β=0.161, P-value<0.01) (รูปที่ 1) เมื่อควบคุมปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่
เพศ อายุ การศึกษา พฤติกรรมการออกกำลังกายและการพักผ่อน
รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อความสุข เช่น สุขภาพ ครอบครัว งาน จิตวิญาณ
ความเอื้ออาทรต่อชุมชนและสังคม และความรู้สึกปลอดภัยและสงบสุขในสังคมไทย
รูปที่ 1 ค่าอิทธิพลของความมั่นคงทางการเงินที่มีผลต่อความสุขของคนทำงาน
ผู้เขียนดัดแปลงจากแบบจำลองความสุขที่แสดงในส่วนท้ายบทความ
ปัจจัย “เงิน” ที่นำมาใช้วิเคราะห์ในแบบจำลองเป็นตัวแปร ความมั่นคงทางการเงิน ที่ได้จากการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) ของ 4 ตัวชี้วัดสถานะความสุขทางการเงิน (Happy Money) ของคนทำงาน ที่สะท้อนด้วย เงินออม หนี้สิน และความพอเพียงระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน [KMO = 0.759; P-value of Bartlett's Test of Sphericity <0.01] จากนัยสำคัญทางสถิติเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า “ความสุขทางการเงินช่วยให้มีความสุขในช่วงเวลาวิกฤติได้จริง” หลักฐานเชิงประจักษ์นี้ จึงอาจเป็นช่องทางในการส่งเสียงไปยังมาตรการเยียวยาของรัฐ ให้ตระหนักว่า การชดเชยรายได้เพียงอย่างเดียว อาจไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสร้างความสุขได้ มาตรการบรรเทาภาระหนี้สินในช่วงเวลาวิกฤติเป็นมาตรการจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีร่วมกับแผนการรณรงค์เพิ่มดอกผลการออมที่ได้จากสถาบันการเงินต่างๆ
งานยังบันดาลสุขอยู่ไหม ในวันที่ต้อง Work From Home
Work From Home เป็นชีวิตวิถีใหม่ของคนทำงานในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าไร อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำงานที่บ้านทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เกิดความยืดหยุ่นที่คนทำงานต้องจัดระบบและทำความคุ้นชินจากชีวิตการทำงานในวิถีเดิมที่เปลี่ยนไปแล้ว ดูเน็ตฟลิกซ์ ตามซีรีย์เกาหลี จนตื่นสายกว่าปกติ ก็ไม่ต้องกลัวรถติดจนเข้างานไม่ทัน รูปแบบการทำงานประจำอาจต้องปรับเวลาเริ่มและเลิก และเวลาพักผ่อนตามสถานการณ์ นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นของการทำงานที่บ้านทำให้เลือกที่จะทำงานและพักผ่อนตรงไหนก็ได้ในบริเวณบ้านของเรา หลายคนอาจใช้ที่นอนเป็นได้ทั้งที่นั่งทำงานและที่พักผ่อน เวลายามเย็นเป็นได้ทั้งเวลาออกกำลังกายและเวลาประชุม
Work From Home ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการพักผ่อนมลายหายไปหรือไม่ ความสุขที่เกิดจากการทำงานและการพักผ่อน มีรูปแบบอย่างไร เรามาดูกัน
แบบจำลองวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของคนทำงาน ชี้ว่า งานยังบันดาลสุขได้ (รูปที่ 2) แต่จะสุขมากสุขน้อย ขึ้นอยู่กับระดับความพึงพอใจในงาน ยิ่งระดับความพึงพอใจในงานสูงขึ้นเท่าใด ความสุขในชีวิตของคนทำงานก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น ผู้ที่พึงพอใจในงานในระดับมากที่สุด จะมีระดับความสุขสูงกว่าคนที่ไม่พอใจในงานเลยถึง 3 คะแนน (β=3.0) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่ดีขึ้น (β=0.05) และ การได้รับการปฏิบัติจากองค์กรที่ดี (β=0.25) ก็ช่วยเพิ่มระดับความสุขได้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าวันไหนเผลอตัวทำงานเป็นเวลายาวนานเกินไป ความสุขก็อาจจะหลุดลอยหายไปได้ การทำงานมากไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน ย่อมบั่นทอนความสุขของคนทำงานอย่างแน่นอน
รูปที่ 2 ค่าอิทธิพลของความพึงพอใจในงาน ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน และ การได้รับการปฏิบัติจากองค์กร ที่มีผลต่อความสุขของคนทำงาน
ผู้เขียนดัดแปลงเอง เพื่อนำเสนอข้อมูลจากแบบจำลองความสุขที่แสดงในส่วนท้ายบทความ
แบบจำลองนี้ชี้ว่า การได้ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจช่วยเพิ่มความสุขได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยิ่งทำกิจกรรมบ่อยครั้งมากขึ้นในแต่ละสัปดาห์ ระดับความสุขของคนทำงานก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แบบจำลองนี้ชี้อีกว่า คนทำงานไม่ได้สุดโต่งเรื่องการพักผ่อน ผลการวิเคราะห์ พบว่า การพักผ่อนวันละ 1-2 ชั่วโมง เพียงพอในการสร้างความสุขให้คนทำงาน ขณะที่ การพักผ่อนน้อยเกินไป หรือมากเกินไป (มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ไม่รวมเวลานอน) ส่งผลในทางลบต่อความสุขของคนทำงาน (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 ค่าอิทธิพลของการพักผ่อน ที่มีผลต่อความสุขของคนทำงาน
ผู้เขียนดัดแปลงเอง เพื่อนำเสนอข้อมูลจากแบบจำลองความสุขที่แสดงในส่วนท้ายบทความ
“เงิน งาน บันดาลสุขได้จริงในวันที่ต้อง “Work From Home” การปลอดหนี้ มีรายได้ มีเงินออม ช่วยเพิ่มระดับความสุขในคนทำงานได้จริง และ ความพึงพอใจที่เราได้จากการทำงาน สัมพันธภาพที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน และ การปฏิบัติที่ดีขององค์กร ก็ยังช่วยหนุนเสริมเพิ่มระดับความสุขให้กับคนทำงานได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งนำไปสู่แนวทางการเสริมสร้างความสุขคนทำงานภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (รูปที่ 4) ที่ต้องอาศัยทั้งแรงสนับสนุนจากภาครัฐ และการปรับตัวของคนทำงานเอง
รูปที่ 4 ข้อเสนอแนะในการเสริมสร้างความสุขของคนทำงานภายใต้ชีวิตวิถีใหม่
ผู้เขียนผลิตเอง จากโปรแกรมออกแบบออนไลน์
เงิน งาน บันดาลสุขได้ ในวันที่ต้อง Work From Home
ภาคผนวกท้ายบทความ
ตาราง 1 การวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณทดสอบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของคนทำงาน (N=25,955)
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุข | B | Std. Error | Beta | t | Sig. | |
---|---|---|---|---|---|---|
เงิน (ความมั่นคงทางการเงิน) | .161 | .001 | .060 | 154.509 | 0.000 | |
งาน | ||||||
ความพึงพอใจในงาน (ref= ไม่พอใจ) | ||||||
น้อย | .671 | .008 | .059 | 85.949 | 0.000 | |
ปานกลาง | 1.843 | .007 | .345 | 256.706 | 0.000 | |
มาก | 2.707 | .008 | .484 | 352.972 | 0.000 | |
มากที่สุด | 2.991 | .008 | .368 | 352.222 | 0.000 | |
ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน | .054 | .001 | .020 | 44.768 | 0.000 | |
career growth | -.006 | .001 | -.002 | -5.842 | 0.000 | |
การได้รับการปฏิบัติจากองค์กร | .245 | .001 | .092 | 253.085 | 0.000 | |
การพักผ่อน | ||||||
การทำกิจกรรมพักผ่อน (ref=ไม่ได้ทำ) | ||||||
กิจกรรมพักผ่อน 1 – 2 วัน/สัปดาห์ | .137 | .005 | .020 | 28.175 | 0.000 | |
ทำกิจกรรมพักผ่อน 3 – 4 วัน/สัปดาห์ | .201 | .005 | .038 | 43.546 | 0.000 | |
ทำกิจกรรมพักผ่อน 5 - 6 วัน/สัปดาห์ | .339 | .005 | .051 | 67.716 | 0.000 | |
ทำกิจกรรมพักผ่อนทุกวัน | .647 | .006 | .058 | 107.634 | 0.000 | |
เวลาในการพักผ่อน (ref = น้อยกว่า1 ชั่วโมงต่อวัน) | ||||||
พักผ่อน1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน | .059 | .003 | .010 | 18.212 | 0.000 | |
พักผ่อน 3 – 5 ชั่วโมงต่อวัน | -.077 | .003 | -.013 | -23.346 | 0.000 | |
พักผ่อน 6 – 7 ชั่วโมงต่อวัน | -.257 | .003 | -.043 | -78.565 | 0.000 | |
พักผ่อน 8 ชั่วโมงขึ้นไป | -.399 | .005 | -.038 | -87.039 | 0.000 |
หมายเหตุ: ควบคุมปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ได้แก่
เพศ อายุ การศึกษา พฤติกรรมการออกกำลังกาย สุขภาพ ครอบครัว งาน จิตวิญาณ
ความเอื้ออาทรต่อชุมชนและสังคม และความรู้สึกปลอดภัยและสงบสุขในสังคมไทย
ดำเนินการวิเคราะห์ภายใต้โครงการองค์กร 4G มีสุข: เข้าใจ เตรียมพร้อม
และทลายช่องว่าง
ที่มา: วิเคราะห์จากฐานข้อมูลความสุขคนทำงานประเทศไทย ปี 2563
อ้างอิง
- สุกรี เจริญสุข (2561, 23 กุมภาพันธ์). คู่แข่ง 4.0 คือการศึกษาและคุณภาพชีวิต. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/columnists/news_471267
- Novotney, A. (2012). Money Can't Buy Happiness. Monitor on Psychology, 43(7), 24-27.
- Easterlin, R. A. (2001). Income and happiness: Towards a unified theory. The economic journal, 111(473), 465-484.
- ข้อมูลจากโครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER) สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล