วันหยุดการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ (stop cyberbullying day) ภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ ร้ายแรงกว่าที่คิด !


 



วันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดการระรานทางไซเบอร์สากล หรือที่เรียกว่า “ วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของการระรานทางไซเบอร์และร่วมหยุดพฤติกรรมและการกระทำดังกล่าว [1]


ทุกวันนี้  การถูกบูลลี่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด สามในสี่ของนิสิต-นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เคยตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่มาแล้วทั้งนั้น จากรายงานผลการสำรวจสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของนิสิต-นักศึกษา ประจำปี 2564 – 2565 ด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER โดยศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีนิสิต-นักศึกษาตอบแบบสำรวจรวมทั้งสิ้น 7,995  คน จากมหาวิทยาลัย 22 แห่งทั่วประเทศไทย ในจำนวนนี้ พบว่า 5,784 คน (ร้อยละ 72.35) ระบุว่า เคยถูกบูลลี่ (Bully) ด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมก้าวร้าว ขณะที่ จำนวน 2,211 คน (ร้อยละ 27.65) ระบุว่า ไม่เคยถูกบูลลี่ (Bully) [2] ข้อมูลแสดงให้เห็นว่านอกจากจำนวนมากที่เคยถูกบูลลี่แล้วยังแสดงถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งทางจิตใจและทางกายของเหยื่อที่ถูกกระทำในสังคม




ปัจจุบันการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มีเป็นจำนวนมากและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากผู้คนต้องใช้สื่อออนไลน์ในการทำงานและการเรียนรู้ แถมยังให้ความสะดวกสบายอีกด้วย ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น รับรู้ข่าวสาร ได้อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ตามมาด้วยปัญหาทางด้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ศูนย์วิชาการมหาวิทยลัยแห่งความสุขฯ ขอชวนทุกคนมารู้จัก 6 รูปแบบการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์กันว่าเป็นอย่างไร [3]

 

 

6 รูปแบบการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

 

 


1. ทำให้อับอาย สร้างความเสียหายต่อผู้ถูกกระทำ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการแกล้งที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความอับอาย ใช้ถ้อยคำในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ด่าทอ ล้อเลียน ใส่ร้าย ขู่ทำร้าย  พูดจาส่อเสียด เหยียดเพศสภาพและความเป็นชาติพันธุ์ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

2. การประจาน ไม่ว่าจะเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่ผู้ถูกกระทำโดนถูกรุมทำร้าย รุมแกล้ง แล้วนำคลิปไปโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่เสียหายต่อผู้ถูกกระทำ

3. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น การให้ผู้อื่นล่วงรู้ถึงรหัสผ่านหลักที่ใช้ประจำ ในการทำธุรกรรมในพื้นที่ออนไลน์ โซเชียลมีเดีย อาจตกเป็นเหยื่อโดนรังแกด้วยการถูกสวมรอยใช้บัญชีของตัวเอง โพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปอนาจาร คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบต่างๆ โดยไม่รู้ตัว

4. การแบล็กเมล์ ผู้ไม่หวังดีมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้เสียหาย นำความลับหรือภาพลับของเพื่อนมาเปิดเผยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้มีการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง หรือการใส่ร้ายป้ายสี

5. การหลอกลวง การหลอกลวงให้ผู้คนหลงเชื่อ โดยสวมรอยเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและเป็นที่นับถืออย่างกว้างขวาง เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินหรือกระทำสิ่งที่มีความเสียหายด้วยวิธีการต่างๆ 

6.การสร้างข่าวปลอม เป็นการกระทำที่พบเห็นบ่อยครั้งซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกระทำเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งและมักจะทำในรูปแบบโจมตีฝ่ายตรงข้าม

การกลั่นแกล้งดังกล่าวด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของใครบางคน อาจจะทำให้อีกคนสูญเสียต่อสภาวะจิตใจและร่างกายในการดำรงชีวิต บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงแค่ไหน หลายคนก็ยังทำอยู่ เพราะคิดว่าสิ่งที่ทำสนุกและคุ้นชินกับมันแล้ว การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้คำแนะนำในการรับมือกับการบูลลี่ทางไซเบอร์ ด้วย 5 วิธีรับมือ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ดังนี้ [4]

 


5 วิธีรับมือ ไม่ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying


 

1. Stop หยุดการกระทำทุกอย่าง ในกรณีที่เป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันในขั้นเริ่มต้น ขอให้เหยื่อหยุดในการตอบโต้หรือระรานกลับเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องบานปลาย และไปปรับความเข้าใจกันภายหลัง

2. Block ปิดกั้นพวกเขาซะ ไม่ให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลของเรา ไม่ว่าจะจากทางโซเชียล หรือการเจอหน้าจริงๆ

3. Tell บอกบุคคลที่ไว้ใจได้ หากเป็นเด็ก ๆ ควรปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ เพื่อขอความช่วยเหลือ ยิ่งถ้าหากเป็นเรื่องที่เริ่มบานปลายร้ายแรงยิ่งควรต้องบอกเพื่อให้พวกเขาช่วยจัดการ ดีกว่าจัดการคนเดียว

4.Remove ลบภาพที่เป็นการระรานออกทันที ด้วยการติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าของพื้นที่นั้น เช่นการกดปุ่มรายงานเนื้อหาบน Facebook Twitter และ IG นั้นเอง

5. Be Strong เข้มแข็ง อดทน ไม่นำคำว่ากล่าวให้ร้ายของคนร้ายมาบั่นทอนกำลังใจตนเอง เปลี่ยนตนเองจากเหยื่อที่ถูกกระทำมาทวงความยุติธรรมคืนให้คนเอง ด้วยการแคปหลักฐานทั้งหมดเอาไว้แล้วนำไปแจ้งความดำเนินคดีได้เลย


อ้างอิง

[1] Primo [อินเทอร์เน็ต].  วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying Day) 2566.  [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567]. จาก : https://www.primo.co.th

[2] การสำรวจสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี ประจำปี 2564 – 2565 โดยศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

[3] Amnesty International Thailand [อินเทอร์เน็ต].  Cyberbullying การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์.  [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567]. จาก : https://www.amnesty.or.th/latest/blog/879/

[4] สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth [อินเทอร์เน็ต].  Cyberbully หยุด! ที่ปลายนิ้ว.  [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567]. จาก : https://www.thaihealth.or.th/cyberbully