องค์กรไหน จะเผชิญการลาออกครั้งใหญ่ ในช่วง The great resignation : จรัมพร โห้ลำยอง ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ในช่วงปีที่ผ่านมา การทำงานที่บ้าน (Work from home) ได้กลายเป็นวิถีปกติใหม่ของคนทำงานทั่วโลก แต่เมื่อพวกเราเริ่มรับรู้ถึงวิธีการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ฉีดวัคซีน มียารักษา และสวมหน้ากากอนามัย ปัญหาทางสาธารณสุขก็เริ่มคลี่คลาย สถานประกอบการก็เริ่มที่จะเรียกตัวคนทำงานให้กลับไปสู่สำนักงานดังเดิม ในช่วงนี้องค์กรจำนวนมากต่างเริ่มสัมผัสกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ ซึ่งก็คือ ความยากลำบากที่จะจูงใจให้คนทำงานกลับมาทำงานที่สำนักงานดังเดิม เพราะ พนักงานจำนวนหนึ่งยังเลือกที่จะทำงานที่บ้าน ในขณะที่พนักงานอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะลาออกจากองค์กร (Grant & Wilder2022)[i]
ในปี 2564 กระแสการลาออกระลอกใหญ่ (The great resignation) ได้พัดผ่านตลาดงานของประเทศอเมริกาอย่างรุนแรง โดยพบว่า คนทำงานประมาณ 47 ล้านคน สมัครใจที่จะลาออกจากองค์กรด้วยตนเอง (US Bureau of Labor Statistics, 2021)[ii] ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเทศอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์ระดับโลกที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นด้วย เช่น ยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ และกระแสการลาออกของชาวยุโรปตะวันตกมีความน่ากังวลในอีกรูปแบบ กล่าวคือ กลุ่มคนที่ถูกคลื่นลมพัดพาให้ลาออกไปจากองค์กรครั้งใหญ่นี้ มีคนรุ่นใหม่ลาออกเป็นจำนวนมาก ทั้งคนทำงานเจน Y และ เจน Z (YPulse, 2021)[iii]
ประเทศไทยต้องกังวลแค่ไหน
ร้อยละ 16.2 ของคนทำงานองค์กรทั่วประเทศมีความตั้งใจที่จะลาออก หากมีโอกาสเปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือองค์กรอื่นชวน ติดต่อไปทำงาน (ภาพที่ 1) ในขณะที่ร้อยละ 43.3 ตั้งใจที่จะคงอยู่กับองค์กรปัจจุบัน แม้ว่าจะมีองค์กรอื่นมาชวนไปทำงานก็ตาม
ภาพที่
1 อัตราความตั้งใจลาออก และคงอยู่กับองค์กร (N=20,980)
ที่มา: ดัดแปลงจาก จรัมพร โห้ลำยอง และศิรินันท์ กิตติสุขสถิต (2565)[iv]
อัตราความตั้งใจที่จะลาออกนี้ยังไม่ได้บ่งบอกว่าตลาดแรงงานไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ปรากฎการณ์การลาออกระลอกใหญ่แต่อย่างใด
เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราความตั้งใจที่จะลาออกในปีก่อนหน้า
พบว่ายังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า (ภาพที่ 2) ซึ่งโดยธรรมชาติของความตั้งใจลาออกของคนทำงาน
มีความสัมพันธ์กับสภาวะเศรษฐกิจภาพรวม ช่วงที่เศรษฐกิจดี
ภาคธุรกิจต่างวางแผนขยายกิจการและมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น
ทำให้มีตำแหน่งงานว่างจำนวนมากในตลาดแรงงาน
และส่งผลให้ความตั้งที่จะลาออกมีอัตราสูงขึ้นได้
ซึ่งในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อัตราการขยายตัวของประเทศไทยมีค่าเป็นบวก
อัตราความตั้งใจลาออกของคนทำงานองค์กรในประเทศไทยในช่วงปี 2560-2561 มีค่าระหว่าง ร้อยละ 21 -25 ขณะที่ปี 2563 อัตราการขยายตัวของประ[v]เทศไทยติดลบ ส่งผลให้ความตั้งใจที่จะลาออกมีอัตราลดลงเหลือ
ร้อยละ 16.0 และคงตัวอยู่ที่ระดับ 16.3 แม้ว่าอัตราการขยายตัวของประเทศจะดีขึ้นเล็กน้อย
ภาพที่
2 ร้อยละความตั้งใจลาออก และร้อยละ GDP growth ในปี 2560,
2561, 2563, และ 2564
(2560; N=28,825,
2561; N=28,999, 2563; N=25,955, และ2564; N=20,980)
ที่มา: สำรวจความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย 2560, 2561, 2563, และ 2564
แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่า
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงของการลาออกระลอกใหญ่
แต่ประเด็นเรื่องการลาออกของพนักงานยังคงเป็นสิ่งที่ต้องกังวล
อัตราความตั้งใจลาออกของคนทำงานในปี 2564 ชี้ว่า
หนึ่งในหกของคนทำงานในองค์กรต้องการลาออกจากองค์กรปัจจุบัน
ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเช่นนี้ ตำแหน่งงานใหม่ย่อมมีมากขึ้น
โอกาสที่คนทำงานเหล่านี้จะย้ายงานจริงมีความเป็นไปได้สูง
ซึ่งจะสร้างภาระต้นทุนขององค์กรที่สูญเสียคนทำงานไป การส่งต่อองค์ความรู้ในองค์กรต้องหยุดลง
ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานอย่างเป็นระบบจะถูกคุกคาม
ในอีกทางหนึ่งตัวเลขร้อยละ 16.3 อาจไม่ใช่อัตราที่ต่ำ หากคำนึงถึงสภาวการณ์จริงของตลาดแรงงานไทย ที่กำลังแรงงานยังไม่ได้กลับเข้าสู่ภาคการทำงานในระบบทั้งหมด ทั้งนี้การคุกคามของCOVID-19 ทำให้คนไทยต้องสูญเสียงานประจำไปอย่างถาวร แม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในเวลาต่อมา แต่รูปแบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว งานที่สูญเสียไป และงานที่กลับมาใหม่มีความแตกต่างกัน แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากยังไม่ได้กลับมาทำงาน เนื่องจาก มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ ไม่มีทุนเพียงพอที่จะย้ายถิ่นกลับมายังพื้นที่อุตสาหกรรม หรือบางคนยังรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำงาน
องค์กรไหนที่ควรจะต้องเตรียมพร้อมเป็นพิเศษกับปรากฎการณ์นี้
อัตราความตั้งใจลาออกของคนทำงานแปรผันไปตามภาคการทำงาน
งานศึกษาของจรัมพร โห้ลำยอง และศิรินันท์ กิตติสุขสถิต (2565) ชี้ว่า
ภาคอุตสาหกรรมบางแห่งมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับกระแสการลาออกในอนาคต ภาคกิจกรรมทางวิชาชีพ
วิทยาศาสตร์ และเทคนิค ภาคศิลปะและความบันเทิง ภาคการบริหารและการบริการสนับสนุน
และ ภาคก่อสร้าง มีอัตราความตั้งใจลาออกสูงกว่าร้อยละ 20 (ภาพที่ 3) ซึ่งหมายถึงว่ามากกว่าหนึ่งในห้าของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวตั้งใจที่จะออกจากงานในปัจจุบัน
ภาพที่ 3 ร้อยละความตั้งใจลาออก
จำแนกตามภาคการทำงาน (N=20,980)
ที่มา: ดัดแปลงจาก จรัมพร โห้ลำยอง และศิรินันท์ กิตติสุขสถิต (2565)
อนาคตจะเป็นอย่างไร
อัตราการลาออกของคนทำงานไทยในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้น สืบเนื่องจากอัตราความตั้งใจลาออกของคนทำงานรุ่นใหม่อยู่ในระดับสูง โดยกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่อย่างเจน Y และ เจน Z มีอัตราความตั้งใจลาออกที่สูงถึงร้อยละ 14 และ ร้อยละ 28.2 ตามลำดับ คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเจน Z จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอย่างต่อเนื่องในองค์กร อัตราความตั้งใจลาออกที่สูงของคนกลุ่มนี้ จึงบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเดินเข้าสู่กระแสการลาออกระลอกใหญ่ในอนาคต
ภาพที่ 4 ร้อยละความตั้งใจลาออก
จำแนกตามรุ่นประชากร (N=20,980)
ที่มา: ดัดแปลงจาก จรัมพร โห้ลำยอง และศิรินันท์ กิตติสุขสถิต (2565)
ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปตอบคำถามก่อนหน้าอีกครั้ง “องค์กรไหนที่ควรจะต้องเตรียมพร้อมเป็นพิเศษกับปรากฎการณ์นี้” คำตอบจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “ทุกองค์กร” ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการลาออกของพนักงานที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ
[i] Grant, E., &
Wilder, E. (2022). I Quit: Lessons for Educators from The Great
Resignation. University of Pittsburgh Law Review, Forthcoming, 2023.
[ii] US Bureau of Labor
Statistics. (2021). Economic News Releases. Retrieved from
https://www.bls.gov/bls/newsrels.htm
[iii] YPulse. (2021). Why The
Great Resignation is Happening in Western Europe Too?. Retrieved from
https://www.ypulse.com/article/2021/11/02/why-the-great-resignation-is-happening-in-western-europe-too/#
[iv] จรัมพร
โห้ลำยอง และศิรินันท์ กิตติสุขสถิต (2565). อิทธิพลของสมดุลชีวิตกับการทำงานต่อความตั้งใจลาออก
และความตั้งใจคงอยู่กับองค์กร ในกลุ่มบุคลากรภาคการศึกษา. วารสารวิชาการ
การจัดการภาครัฐและเอกชน. 4(3)