เจาะแผน Happy University ใช้ “ความสุข” ปลุกศักยภาพมหาวิทยาลัย
เชื่อไหมว่า แค่สร้าง “ความสุข” มหาวิทยาลัยไทยก็มีสิทธิ์มงลง ลุ้นตำแหน่งมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกได้ จริงหรือไม่จริงต้องลงมือทำเอง ถ้าจะถามว่าใครล่ะจะเป็นคนลงมือทำ โครงการ Happy University มีคำเฉลย
“มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” หรือ Happy University เป็นแนวคิดที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ริเริ่มศึกษา วิจัยและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากแนวคิดที่ว่า มหาวิทยาลัยที่มีความสุข จะสามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงถ่ายทอดความรู้และสร้างคนที่มีคุณภาพได้ดีขึ้น หลังจาก 2 เฟสแรกใน 7 ปีที่ผ่านมา คราวนี้ถึงเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นหัวใจของโครงการแล้ว คือ การสร้างระบบที่เรียกว่า “ปัญญานิเวศ”
รศ.ดร. ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต หัวหน้าโครงการ การสนับสนุนระบบปัญญานิเวศเพื่อการสร้างเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะที่ยั่งยืน หรือ Happy University มาเล่าเคล็ดลับง่ายๆ ของการสร้างระบบปัญญานิเวศว่า “ความสุขอาจจับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ และสร้างได้ เป้าหมายของ Happy University คือ เราจะชวนมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 50 แห่งมาร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความสุข ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุคลากร นักศึกษา หรือใครก็ตามที่ทำงานเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน รู้สึกดีต่อกัน จนเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง มีพลังและแรงบันดาลใจที่จะสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ถ่ายทอดได้สนุก และเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข จึงจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพออกสู่สังคมได้”
ก้าวทีละก้าวสู่ความสุข
การสร้างความสุขขององค์กรใหญ่ที่มีคนเป็นพันต้องอาศัยการวางแผนกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ค่อยเป็นค่อยไป จากความรู้และประสบการณ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา Happy University แนะว่าการสร้างสุขในมหาวิทยาลัยทำได้ใน 7 แผนงาน มาดูกันเลย
แผนงานแรก คือ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับโครงการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในระดับนโยบาย แผนงานที่ 2 คือ การสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กร และสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของทุกคนในมหาวิทยาลัยเสียก่อน เพื่อให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่เข้าร่วมเป็นภาคีนั้นมีระดับความสุขมากน้อยแค่ไหน และควรต้องทำอะไรต่อไป
แผนงานที่ 3 และ 4 คือการสร้างเอนเนอร์จีล้นๆ สร้างเคมีเข้ากันในมหาวิทยาลัย ได้แก่ กิจกรรมสนุกๆ ในการอบรมบุคลากรในทุกส่วนงานเพื่อสร้างทั้ง “นักสร้างสุข” และ “วิทยากรมืออาชีพ” ที่จะเป็นกลไกหลักในการจุดประกายการสร้างความสุขในทุกระดับตามที่กำหนด ต่อด้วยแผนงานที่ 4 คือ การเสริมสร้างสุขภาวะในกลุ่มนักศึกษา รุ่นพี่ชวนรุ่นน้องปรับพฤติกรรมที่นำไปสู่การมีสุขภาพดี สร้างความใกล้ชิดระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง และสร้าง “วิทยากรมืออาชีพ” ในกลุ่มนักศึกษาเพื่อจัดอบรมให้รุ่นน้องต่อไป
แผนงานที่ 5 จะเน้นการจัดกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยแห่งความสุข ซึ่งจะมี 5 มหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อช่วยให้มหาวิทยาลัยภาคีเป้าหมายทั้ง 50 แห่งสร้างองค์กรที่มีความสุข มีสุขภาวะที่ดีต่อไป
แผนงานที่ 6 แน่นอนว่าต้องมีการวัดผล โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศการสนับสนุนตัวชี้วัดการประเมินตนเองของ 5 มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยแห่งความสุข คณะกรรมการนี้จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัยมหิดลผู้เป็นเจ้าของโครงการ โดยจะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง และแผนงานสุดท้ายคือการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวคิดและหาแนวร่วมเพิ่มเติมเพื่อขยายผลต่อไป
ถ้าจะมองรอบ ๆ ตัวแล้ว หลายคนอาจจะเห็นแต่ความทุกข์ ความไม่สบายกายใจ จริง ๆ แล้ว ความสุขสำหรับคนในมหาวิทยาลัยสร้างไม่ยากเลย เริ่มจาก “สุขภาพดี” ง่ายๆ แค่นี้ แต่การสร้างสุขภาพดีอาจต้องแลกกับปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตหรือสิ่งที่เราเคยชอบ เคยทำนิดๆ หน่อยๆ เช่น ลดหรือเลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังต้องทำกิจกรรมที่จะปรับสิ่งแวดล้อมบ้าง สร้างบรรยากาศดี ๆ คนในสถาบันรักกัน มีความผูกพัน รักองค์กรและอยากให้มหาวิทยาลัยของตนเองเก่ง มีผลงานเลิศๆ มีนวัตกรรม รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนพัฒนาตนเองได้เต็มที่ เรียกว่าคนในอยากอยู่ คนนอกอยากเข้ามาเรียน มาทำงานกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
ถ้าทำครบ 7 แผนงานแล้ว มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะเริ่มมี “ระบบปัญญานิเวศ” ของตัวเอง ยิ่งมีมหาวิทยาลัยมาร่วมโครงการมากเท่าไร เครือข่าย “ระบบปัญญานิเวศ” ก็จะใหญ่ขึ้นเท่านั้น ส่งพลังบวก ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทยได้อย่างยั่งยืน
และการสร้างสุขภาพที่จะทำให้คนมีความสุข มีถึง 11 ด้านให้เลือกได้ตามที่สบายใจ จากการสำรวจของโครงการ Happy University ได้แก่ สุขภาพดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดี การงานดี การเรียนดี ความผูกพันองค์กร/ความผูกพันกับสถาบันการศึกษา สมดุลชีวิตกับการทำงาน และสมดุลระหว่างชีวิตกับการเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือที่สถาบันฯ สร้างสรรค์ขึ้นที่เรียกว่า HAPPINOMETER
ถ้าทำครบ 7 แผนงานแล้ว มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะเริ่มมี “ระบบปัญญานิเวศ” ของตัวเอง ยิ่งมีมหาวิทยาลัยมาร่วมโครงการมากเท่าไร เครือข่าย “ระบบปัญญานิเวศ” ก็จะใหญ่ขึ้นเท่านั้น ส่งพลังบวก ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทยได้อย่างยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติมที่: https://www.happythaiuniversity.com/allnews
ข่าวสารดี ๆ จากโครงการ Happy University
#มหาวิทยาลัยแห่งความสุข #ความสุข #มหาวิทยาลัย #HappyUniversity #สสส #บุคลากร #นักศึกษา