วันผู้บริจาคโลหิตโลก "อิ่มใจผู้รับ สุขใจผู้ให้"

วันผู้บริจาคโลหิตโลก อิ่มใจผู้ให้ สุขใจผู้รับ (หน้าปก)

 

 

     วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก อีกทั้งยังพบว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย การค้นพบเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อีกเป็นจำนวนมาก [1]


     จากผลสำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขคนวัยทำงานในองค์กรประเทศไทย ระดับประเทศประจำปี 2565 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าค่าคะแนนความสุข มิติน้ำใจดี (Happy Heart) ของคนวัยทำงานทั่วประเทศไทย คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 67.8 ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เห็นว่า คนวัยทำงานกว่า 25,000 คน มีน้ำใจดี เอื้ออาทร ช่วยเหลือคนรอบข้างและสังคม ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการทำประโยชน์ให้กับสังคมแตกต่างกันออกไป [2]


     วันนี้ Happy University ขอเสนอ 1 วิธี ที่ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียกำลัง และที่สำคัญคือสามารถต่อชีวิตให้กับเพื่อนมนุษย์ได้อีกด้วย นั่นคือ การบริจาคโลหิต แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะมาบริจาคโลหิตได้ ผู้เข้าบริจาคต้องมีคุณสมบัติและการเตรียมตัวก่อนมาบริจาค ดังนั้นนอกจากเราจะมีน้ำใจดี ช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังต้องเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและสมบูรณ์เพื่อให้พร้อมกับการบริจาคโลหิตอีกด้วย ทั้งมีความสุขในการช่วยเหลือสังคม และยังมีความสุขกับการมีร่างกายที่แข็งแรงอีก ได้ประโยชน์ขนาดนี้ชวนเพื่อน ๆ และครอบครัว ไปบริจาคโลหิตด้วยกันเถอะ ^^

 

 


บริจาคโลหิตมีประโยชน์อย่างไร?

 

 


        การบริจาคโลหิตไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโดย 1 คนจะบริจาคโลหิต ครั้งละ 350 – 450 ซีซีหรือคิดเป็นร้อยละ 10 – 12 ของปริมาณโลหิตทั้งหมดในร่างกาย หลังจากการบริจาคแล้ว ไขกระดูกในร่างกายจะทำการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยเม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นใหม่นั้นจะไหลเวียนในร่างกายยาวนานประมาณ 120 วัน [3]


ประโยชน์ของการบริจาคเลือด

·       ช่วยกระตุ้นการทำงานของโขกระดูก ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง

·       ช่วยให้ทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ ABO และ Rh

·       ช่วยให้มีระบบไหลเวียนโลหิตที่ดี

·       ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และมีความสุขในการเป็นผู้ให้

 

 

 

5 ข้อควรรู้ ก่อนบริจาคโลหิต 




     ในการบริจาคเลือดนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ เพราะทางสภากาชาดได้มีการกำหนดคุณสมบัติ พร้อมวิธีการเตรียมตัวก่อนการบริจาคไว้ ถ้าคุณสมบัติไม่ครบและเตรียมตัวมาไม่พร้อมก็ไม่สามารถบริจาคได้ [4] วันนี้ Happy U มี 5 ข้อควรรู้ ก่อนบริจาคโลหิตมาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนกันค่ะ

 

·       พักผ่อนให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หากอยู่ในระหว่างทานยารักษาโรค ให้แจ้งพยาบาลหรือแพทย์ทันที

·       หลักเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ขนมหวาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง

·       ก่อนบริจาคเลือด และก่อนเจาะเลือดบริจาคให้ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว จะช่วยทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น

·       งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหละว บาคโลหิต 1 ชั่วโมง

·       สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ผู้บริจาคโลหิตมีอายุ 17-70 ปี น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป

 

 

อ้างอิง

[1]  โรงพยาบาลกรุงเทพ [อินเทอร์เน็ต]. 14 มิถุนายน “วันผู้บริจาคโลหิตโลก”(World Blood Donor Day). [สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567]. จาก : https://bangkokpattayahospital.com/th/health-articles-th/world-blood-donor-day-th-2/

[2] ผลสำรวจคุณภาพชีวิตระดับประเทศประจำปี 2565 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

[3] อ. พญ.รัตตพร วิชิตรัชนีกร [อินเทอร์เน็ต]. บริจาคโลหิตมีประโยชน์อย่างไร?. [สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567]. จาก : https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/linech5/

[4] สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย [อินเทอร์เน็ต]. 5 ข้อแนะนำเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด [สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567]. จาก : https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/info529_blood1/