เจาะแผน Happy University ใช้ “ความสุข” ปลุกศักยภาพมหาวิทยาลัย



        เจาะแผน Happy University ใช้ “ความสุข” ปลุกศักยภาพมหาวิทยาลัย


        เชื่อไหมว่า แค่สร้าง “ความสุข” มหาวิทยาลัยไทยก็มีสิทธิ์มงลง ลุ้นตำแหน่งมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกได้ จริงหรือไม่จริงต้องลงมือทำเอง ถ้าจะถามว่าใครล่ะจะเป็นคนลงมือทำ โครงการ Happy University มีคำเฉลย

        “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” หรือ Happy University เป็นแนวคิดที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ริเริ่มศึกษา วิจัยและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากแนวคิดที่ว่า มหาวิทยาลัยที่มีความสุข จะสามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงถ่ายทอดความรู้และสร้างคนที่มีคุณภาพได้ดีขึ้น หลังจาก 2 เฟสแรกใน 7 ปีที่ผ่านมา คราวนี้ถึงเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นหัวใจของโครงการแล้ว คือ การสร้างระบบที่เรียกว่า “ปัญญานิเวศ”

        รศ.ดร. ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต หัวหน้าโครงการ การสนับสนุนระบบปัญญานิเวศเพื่อการสร้างเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะที่ยั่งยืน หรือ Happy University มาเล่าเคล็ดลับง่ายๆ ของการสร้างระบบปัญญานิเวศว่า “ความสุขอาจจับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ และสร้างได้ เป้าหมายของ Happy University คือ เราจะชวนมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 50 แห่งมาร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความสุข ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุคลากร นักศึกษา หรือใครก็ตามที่ทำงานเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน รู้สึกดีต่อกัน จนเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง มีพลังและแรงบันดาลใจที่จะสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ถ่ายทอดได้สนุก และเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข จึงจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพออกสู่สังคมได้”







        ก้าวทีละก้าวสู่ความสุข


        การสร้างความสุขขององค์กรใหญ่ที่มีคนเป็นพันต้องอาศัยการวางแผนกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ค่อยเป็นค่อยไป  จากความรู้และประสบการณ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา  Happy University  แนะว่าการสร้างสุขในมหาวิทยาลัยทำได้ใน 7 แผนงาน มาดูกันเลย

        แผนงานแรก คือ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับโครงการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในระดับนโยบาย แผนงานที่ 2 คือ การสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กร  และสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของทุกคนในมหาวิทยาลัยเสียก่อน เพื่อให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่เข้าร่วมเป็นภาคีนั้นมีระดับความสุขมากน้อยแค่ไหน และควรต้องทำอะไรต่อไป

        แผนงานที่ 3 และ 4  คือการสร้างเอนเนอร์จีล้นๆ สร้างเคมีเข้ากันในมหาวิทยาลัย ได้แก่ กิจกรรมสนุกๆ ในการอบรมบุคลากรในทุกส่วนงานเพื่อสร้างทั้ง “นักสร้างสุข” และ “วิทยากรมืออาชีพ” ที่จะเป็นกลไกหลักในการจุดประกายการสร้างความสุขในทุกระดับตามที่กำหนด ต่อด้วยแผนงานที่ 4 คือ การเสริมสร้างสุขภาวะในกลุ่มนักศึกษา รุ่นพี่ชวนรุ่นน้องปรับพฤติกรรมที่นำไปสู่การมีสุขภาพดี สร้างความใกล้ชิดระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง และสร้าง “วิทยากรมืออาชีพ” ในกลุ่มนักศึกษาเพื่อจัดอบรมให้รุ่นน้องต่อไป  

        แผนงานที่ 5 จะเน้นการจัดกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยแห่งความสุข ซึ่งจะมี 5 มหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อช่วยให้มหาวิทยาลัยภาคีเป้าหมายทั้ง 50 แห่งสร้างองค์กรที่มีความสุข มีสุขภาวะที่ดีต่อไป

     แผนงานที่ 6 แน่นอนว่าต้องมีการวัดผล โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศการสนับสนุนตัวชี้วัดการประเมินตนเองของ 5 มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยแห่งความสุข คณะกรรมการนี้จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัยมหิดลผู้เป็นเจ้าของโครงการ โดยจะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง  และแผนงานสุดท้ายคือการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวคิดและหาแนวร่วมเพิ่มเติมเพื่อขยายผลต่อไป      

        




        สร้างสุข เริ่มต้นที่ “สุขภาพ”

        ถ้าจะมองรอบ ๆ ตัวแล้ว หลายคนอาจจะเห็นแต่ความทุกข์ ความไม่สบายกายใจ จริง ๆ แล้ว ความสุขสำหรับคนในมหาวิทยาลัยสร้างไม่ยากเลย เริ่มจาก “สุขภาพดี” ง่ายๆ แค่นี้ แต่การสร้างสุขภาพดีอาจต้องแลกกับปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตหรือสิ่งที่เราเคยชอบ เคยทำนิดๆ หน่อยๆ  เช่น ลดหรือเลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังต้องทำกิจกรรมที่จะปรับสิ่งแวดล้อมบ้าง สร้างบรรยากาศดี ๆ คนในสถาบันรักกัน มีความผูกพัน รักองค์กรและอยากให้มหาวิทยาลัยของตนเองเก่ง มีผลงานเลิศๆ มีนวัตกรรม รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนพัฒนาตนเองได้เต็มที่ เรียกว่าคนในอยากอยู่ คนนอกอยากเข้ามาเรียน มาทำงานกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

        ถ้าทำครบ 7 แผนงานแล้ว มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะเริ่มมี “ระบบปัญญานิเวศ” ของตัวเอง ยิ่งมีมหาวิทยาลัยมาร่วมโครงการมากเท่าไร เครือข่าย “ระบบปัญญานิเวศ” ก็จะใหญ่ขึ้นเท่านั้น ส่งพลังบวก ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทยได้อย่างยั่งยืน

        และการสร้างสุขภาพที่จะทำให้คนมีความสุข มีถึง 11 ด้านให้เลือกได้ตามที่สบายใจ จากการสำรวจของโครงการ Happy University  ได้แก่ สุขภาพดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดี การงานดี การเรียนดี ความผูกพันองค์กร/ความผูกพันกับสถาบันการศึกษา สมดุลชีวิตกับการทำงาน และสมดุลระหว่างชีวิตกับการเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือที่สถาบันฯ สร้างสรรค์ขึ้นที่เรียกว่า HAPPINOMETER

        ถ้าทำครบ 7 แผนงานแล้ว มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะเริ่มมี “ระบบปัญญานิเวศ” ของตัวเอง ยิ่งมีมหาวิทยาลัยมาร่วมโครงการมากเท่าไร เครือข่าย “ระบบปัญญานิเวศ” ก็จะใหญ่ขึ้นเท่านั้น ส่งพลังบวก ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทยได้อย่างยั่งยืน       

        อ่านเพิ่มเติมที่: https://www.happythaiuniversity.com/allnews

        ข่าวสารดี ๆ จากโครงการ Happy University

        #มหาวิทยาลัยแห่งความสุข #ความสุข #มหาวิทยาลัย #HappyUniversity #สสส #บุคลากร #นักศึกษา